จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ความประทับใจ: อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือร่วมลงขันสร้างถังน้ำดื่มให้นักเรียนบ้านคูบัวเมื่อพ.ศ.2525

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เมื่อกลางภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา2525 ขณะที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่2 ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กิจกรรมถนัดที่ผู้เขียนเข้าร่วม คือ การเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของคณะและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้พี่อึ่ง รุ่นพี่รุ่นพี่ซึ่งเป็นประธานนักศึกษายังได้ทาบทามไปทำหน้าที่เป็นประธานกีฬาคณะอีกด้วย จึงต้องทำงานออกหน้าออกตาให้เห็นกันบ่อยๆ แถวๆ คณะ

วันหนึ่งมีเพื่อนมาสะกิดให้ผู้เขียนไปพบรองศาสตราจารย์ ปรีชา กาญจนาคม(ศาสตราจารย์ปรีชา กาญจนาคม) อาจารย์ที่ปรึกษา จึงรู้สึกใจเต้นไม่เป็นส่ำ เพราะร้อยวันพันปีไม่เคยเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาเลย ยกเว้นตอนลงทะเบียนเรียน นอกจากนี้ยังติดนิสัยพอเหลือบเห็นอาจารย์ท่านใดเดินผ่านมาก็มักจะหลบหายหน้าไปก่อนที่จะเดินสวนกับท่านเหล่านนั้นเสมอ

เมื่อพิจารณาดูแล้วตนเองไม่น่าจะทำอะไรผิดเอาไว้จึงคลายใจ เพราะอาจารย์ดุมากในชั้นเรียนขณะสอนวิชาโบราณคดีเบื้องต้น มาดของอาจารย์ที่เจนตาอยู่จนถึงทุกวันนี้ คือ ความเคร่งขรึมและท่านจะพูดเสียงต่ำๆขณะสอนว่า
“ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม คุณต้องพยายามฝึกฝนตนเอง พัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการใช้ชีวิตให้ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ” ประมาณนี้ โดยอาจารย์ปรีชามักจะใช้นิ้วชี้ข้างใดข้างหนึ่งขยับกรอบแว่นให้เข้าที่เหนือดั้งจมูกเสมอ

สิ่งที่นักศึกษาชั้นปีที่1 ต้องได้รับบทเรียนกันเกือบทุกคน คือ เรื่องการถูกหักคะแนนเมื่อสะกดคำว่า “ขวานหินกะเทาะ”ผิดในการทำข้อสอบอัตนัย แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ด้วยคำสอนที่จริงจังอย่างนี้ทำให้ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ติดนิสัยการเขียนหนังสือด้วยความระมัดระวังทุกเสมอ

เมื่อผู้เขียนเดินขึ้นไปพบอาจารย์ปรีชา ท่านยิ้มให้อย่างมีเมตตาและแจ้งให้ทราบว่า จะขอแรงให้ช่วยบอกบุญแก่นักศึกษาคณะโบราณคดีทุกชั้นปี ให้ช่วยกันบริจาคเงินสร้างถังเก็บน้ำดื่มแก่นักเรียนที่บ้านคูบัว ตำบลคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเราได้อาศัยพักพิงคุ้มกะลาหัวกันในช่วงฝึกภาคสนามการขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปิดภาคเรียนมาระยะหนึ่งแล้ว

ผู้เขียนรับปากอาจารย์ปรีชาและกลับลงมาด้วยความภาคภูมิใจที่อาจารย์มอบหมายหน้าที่สำคัญดังกล่าวให้ แต่ก็รู้สึกหนักใจเพราะตระหนักดีว่า ศักยภาพของตนเองอาจจะไม่เพียงพอ จากนั้นก็กลับไปนั่งไตร่ตรองอยู่พักหนึ่ง ในห้องพักนักศึกษา ซึ่งเราเรียกกันว่าห้องCommon room

ในที่สุดก็เหลือบเห็นถังน้ำพลาสติกสีเหลืองที่เคยใช้ตักน้ำระหว่างออกฝึกขุดค้นในช่วงปิดภาคฤดูร้อนของปีที่แล้วได้ จึงเอากระดาษมาปิดที่ด้านข้างถังแล้วเขียนด้วย Marking Pen สีน้ำเงินว่า “จุลศักราช 1342 (พ.ศ.2525) ขอเชิญพวกพ้องน้องพี่ชาวคณะโบราณคดีมาช่วยกันลงถัง(ลงขัน) เพื่อสร้างถังเก็บน้ำดื่มให้นักเรียนโรงเรียนบ้านคูบัว จ.ราชบุรี” จากนั้นผู้เขียนก็นำถังดังกล่าวไปวางไว้ข้างประตูทางเข้าของตึกคณะโบราณคดี แล้วคอยนั่งเฝ้า ปากก็บอกบุญให้ร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ซึ่งมักจะผลัดกันนั่งประจำกันที่โต๊ะหน้าคณะไม่เคยว่างเว้น เมื่อถึงเวลาเรียนก็ฝากบอกให้คนอื่นช่วยดูให้ ปรากฏว่าธารน้ำใจจากคณาจารย์ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลั่งไหลมาเป็นระยะๆ คนละเล็กคนละน้อย ทำให้ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก็ได้เงินบริจาคมาประมาณ 3,000 บาทเศษ จากนั้นจึงนำไปมอบให้อาจารย์ปรีชาเพื่อดำเนินการต่อไป

ผู้บริจาคคนหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ไม่รู้ลืม คือ ชายหนุ่มวัยประมาณ 25-26 ปี ผิวพรรณดี ใบหน้าหล่อเหลา รูปร่างสูงโปร่งและสง่างาม แต่งตัวสุดเนี๊ยบ ผู้กำลังจะเดินผ่านไป ทั้งๆที่ตนเองก็ไม่เคยสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อน เพียงแต่เห็นไม่กี่ครั้งในช่วงรับน้อง และผู้เขียนไม่ใช่วัยรุ่นประเภทคลั่งดารา หรือ คลั่งคนดัง แต่ทุกครั้งก็ได้พบหน้าบุคคลท่านนั้น ก็มักจะแอบอธิษฐานอยู่ในใจว่า “เจ้าประคุ๊ณขอให้ลูกช้างหล่อได้เหมือนพี่คนนี้สักครึ่งหนึ่งเถิ๊ด” แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เคยสมใจนึกเลยแม้แต่น้อย

เหตุที่ผู้เขียนทราบมาคร่าวๆจากเพื่อนๆแบบปากต่อปากว่า พี่แพนเป็นนายแบบ จบปริญญาตรีรุ่นเดียวกับพี่ตา(สาวิตรี พิสนุพงศ์-พี่วอ(วรชัย วิริยารมย์) และกำลังเรียนปริญญาโทสาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ จึงไม่รอช้าร้องออกไปว่า “พี่แพนช่วยบริจาคสร้างถังน้ำให้เด็กนักเรียนบ้านคูบัวด้วยครับ”

พี่แพนเดินกลับมายิ้มพรายปรากฏอยู่บนริมฝีปากคมกริบรูปกระจับงดงามเกินชาย(ใด) พร้อมกับกรีดธนบัตรใบละยี่สิบออกมา 1 ใบ หย่อนลงถัง จากนั้นพี่แพนก็พูดคุยด้วยอย่างไม่ถือตัวเล็กน้อย ก่อนจะยื่นนามบัตรร้านแพรวสุวรรณให้แล้วเดินขึ้นตึกไป

นี่คือส่วนหนึ่งในน้ำใจอันงดงามของเผ่าทอง ทองเจือ ที่สร้างสมมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

Terpsichore เทพีแห่งการเต้นรำ (Dance)

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เทอร์ซิโคเร (Terpsichore) เทพีแห่งการเต้นรำ (Dance) ทรงมีสัญลักษณ์ คือ พิณไลรี (Lyre)

ในที่นี้ เทพีองค์ดังกล่าวถือม้วนกระดาษในมือซ้ายด้วย

เทพี(Artemis) หรือเทพเฮอร์มีส(Hermes)ที่พระราชวังบางปะอิน?

โดยพิทยะ ศรีวัฒนสาร

ผู้เขียนถามเจ้าหน้าที่ในสังกัดพระราชวังบางปะอินว่า รู้หรือไม่ว่าประติมากรรมบนราวสะพานด้านหน้าระหว่างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์กับพระที่นั่งวโรภาสพิมานเป็นรูปปั้นของอะไร คำตอบ คือ ได้ยินมาว่าเป็นรูปปั้นของพระมเหสีและพระราชเทวีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในคำบรรยายของภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ ผู้เขียนระบุว่า กรมศิลปากรกำลังดำเนินการซ่อมแซมและอนุรักษ์ประติมากรรมชุดดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อได้ตรวจสอบในเวลาต่อมาก็ทราบว่าหน่วยงานที่กำลังซ่อมประติมากรรมเหล่านี้ คือ กองงานศิลปกรรม สังกัดสำนักพระราชวัง

ผุ้เขียนได้สอบถามนายช่างศิลปกรรมของ สนว.ท่านหนึ่งว่า ในฐานะที่กำลังอนุรักษ์ประติมากรรมรูปนี้อยู่อย่างใกล้ชิดพอจะบอกได้หรือไม่ว่า ประติมากรรมดังกล่าวเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ก็ได้รับคำตอบว่าน่าจะเป็นเพศชาย ซึ่งก็หมายความว่า ประติมากรรมนี้อาจเป็นรูปของเทพเฮอร์มีส(Hermes) ซึ่งเป็นเทพผู้นำสาร(Messenger) ของมหาเทพซูส(Zeus) ผู้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว

ลักษณะประมานวิทยาของเฮอร์มีส คือ สวมรองเท้ามีปีก สวมหมวกปีก และถือไม้เท้าวิเศษ(a magic wand) นอกจากเฮอร์มีสจะเป็นเทพแห่งบรรดาโจรและพ่อค้าแล้ว ยังเป็นผุ้นำทางของคนตายไปสู่นรก(underworld)ด้วย เฮอร์มีสยังมีคุณวิเศษในด้านของการประดิษฐ์พิณ( lyre) ปี่(pipes) บันไดเสียงดนตรี(the musical scale) ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์(astronomy) มาตราชั่ง ตวง วัด(weights and measures) ความรู้เกี่ยวกีฬามวยและยืดหยุ่น( boxing and gymnastics) และเป็นเทพผู้รักษาต้นมะกอก

ปัญหา คือ ประติมากรรมข้างต้น มีลักษณะเป็นรูปบุคคลใบหน้างดงามแบบเทพ-เทพีในอุดมคตีแบบศิลปะคลาสิคยุคต้น คือ ไม่แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดหรือความเจ็บปวด ผมสั้นหยักศก สวมหมวกล่าสัตว์ ปีกแคบมีวัตถุบางอย่างรัดด้านบน ยืนพักเข่าซ้ายจิกปลายเท้าน้อยๆ เอนกายเกือบเป็นแบบตริภังค์ มือขวาชูขึ้นระดับศีรษะ ที่คอมีลูกกระเดือกแลเห็นได้ไม่ชัดนัก สวมเสื้อรับรูปมีปกแสดงรอยยับ พับแขนถึงศอก ต้นแขนมีมัดกล้ามแข็งแรงแม้จะมีร่องรอยความนูนชันของทรวงอกปรากฏให้เห็นรำไรคล้ายอิตถีเพศ ที่เอวซึ่งดูเกือบคอดคล้ายเอวสตรีมีเข็มขัดผ้าหรือผ้ารัดเอวกว้าประมาณ6-7นิ้วคาดไว้ มีสายกระเป๋าหนังพาดเฉวียงจากขวามาซ้าย คล้ายการแต่งกายของเทพีอาร์ทีมีส ในมือข้างขวาถือวัตถุบางอย่าง ส่วนมือซ้ายหิ้วขาซ้ายของนกอินทรีหิ้วหัวลงระดับชายโครง และมือข้างนี้ยังถูกแปลงให้ถือโคมไฟเดี่ยวเอาไว้ด้วย สวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่า ชายลุ่ย สวมรองเท้าหนังมีลายคล้ายรูปหัวใจเรียงเป็นแนวสายผูกเป็นช่องๆ ทิ้งระยะกัน โดยรวมหากไม่นับลูกกระเดือกบางๆน่าจะเป็นลักษณะของเทพีอาร์เทมีส(Artemes) ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งความบริสุทธิ์(chastity) การล่าสัตว์ ดวงจันทร์ พรหมจารี(virginity) และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมากกว่าเทพเฮอร์มีส ซึ่งอยู่ในร่างของบุรุษเพศ

เทพียูเรเนีย(Eurania)ที่พระราชวังบางปะอิน

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร


เทพียูเรเนีย ขนาดสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ยืนอยู่เหนือลูกโลก(Celestial Globe

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

การค้นพบเทพีธาเลีย(Thalia)ที่พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ.2554 ผู้เขียนได้เดินทางไปสำรวจประติมากรรมหล่อปูนปั้น(แกนในเป็นเหล็ก)บนราวสะพานข้ามคลองเชื่อมระหว่างด้านหน้าพระที่ไอยศวรรย์ทิพยอาสน์กับพระที่นั่งวโรภาสพิมาน ภายในพระราชวังบางปะอิน ด้วยสมมติฐานว่า ประติมากรรมดังกล่าวเป็นรูปเทพีในเทพปกณัมกรีก-โรมัน และสามารถระบุชื่อของประติมากรรมดังกล่าวได้อย่างน้อย 2 รูป คือ รูปของประมากรรมเทพียูเรเนียสำริด สูงประมาณ 70 เซนติเมตร ตั้งเป็นลำดับที่3 บนราวสะพานทางด้านซ้ายมือ กับรูปของประติมากรรมเทพีธาเลีย(Thalia) ซึ่งตั้งอยู่เป็นลำดับที่3 บนราวสะพานทางขวามือ ประติมากรรมอื่นๆที่เหลือนอกจากนี้ ผู้เขียนกำลังศึกษาและตีความทางด้านประติมานวิทยาอยู่