จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทบาทของชาวโปรตุเกสในบันทึกของเอดมันด์ โรเบิร์ต

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร


เรียบเรียงจาก Edmund Roberts,  Embassy to the Eastern courts of Cochin-china, Siam and Muscat; in the US Sloop of War Peacock David Geisinger, Commander, during the Years 1832 -3-4 by Edmund Roberts, New York : Harpers Brothers,  1837 .

เรื่องราวของเอดมันด์ โรเบิร์ต(Edmund Roberts)  ทูตอเมริกันคนแรกสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏกระจัดกระจายอยู่ในหลายแหล่ง เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตอเมริกา ณ กรุงเทพมหานครเลือกที่จะกล่าวถึงสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาอย่างละเอียด แต่ก็มิได้พูดถึงบทบาทของนักการทูตผู้นี้มากเท่าใดนัก  อาจจะเนื่องด้วยเป็นข้อจำกัดในด้านวัตถุประสงค์ของการสร้างสรรค์เว็บไซต์ กล่าวคือ
1833 March 18 His Majesty King Nang Klao (Rama III) grants an audience to American envoy Edmund Roberts.
  • March 20 Siam and the U.S. sign the Treaty of Amity and Commerce in Bangkok.”
เว็บไซต์ของสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร เรียกชื่อของ “เอดมัน โรเบิร์ต” ว่า “โรเบิร์ต เอดมันด์”[2] โดยคงยังรอการนำเสนอผลงานการค้นคว้าเกี่ยวกับทูตผู้นี้อยู่ในหน้าเว็บ
บันทึกของเอดมันด์ โรเบิร์ตนอกจากจะให้ความรู้เรื่องร่วมสมัยในช่วงเวลาที่เขาเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามแล้ว ยังสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของชุมชนโปรตุเกสเอาไว้พอสมควร ดังนี้
-นายท่าโปรตุเกสแห่งเมืองบางกอกออกไปรับทูตอเมริกัน
ในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1833 เรือใหญ่(boat)จำนวน 3 ลำของสยามแล่นออกไปทอดสมอใกล้เรือเดินสมุทร(ship)ของเอดมันด์ โรเบิร์ต(Edmund Roberts)  ภายใต้การนำของเจ้าท่าเมืองบางกอก(captain of the port of Bangkok) ชื่อ ยอแซฟ ปิเอดาดึ (Josef Piedade)[3]  ชาวคริสเตียนโปรตุเกสเกิดในกรุงเทพฯ เขาระบุว่า งานเลี้ยงต้อนรับคณะทูตจะถูกจัดขึ้นที่เมืองปากน้ำ ตามธรรมเนียมโดยรับสั่งของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสยาม
เมื่อลงเรือที่มารับเพื่อไปร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว เอดมันด์ โรเบิร์ตรายงานถึงจำนวน “ ปืนใหญ่ทองเหลือง(long brass cannon) ” ในเรือของสยามด้วย[4]
ที่เมืองปากน้ำนั้นมีเจ้าท่าบางกอกรออยู่  เจ้าเมืองปากน้ำออกมาคอยทูตอเมริกันที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม โดยนั่งขัดสมาธิบนพื้นยกสูง ด้านบนขึงผ้า (canopy) มีดาบฝักกาไหล่เงินวางถัดลงจากยกพื้น  มีบริวารคอยโบกพัดขนาดใหญ่ไล่ยุงและคลายร้อน บริวารของเจ้าเมืองจำนวนหนึ่งหมอบคลานอยู่ข้างๆ  เจ้าเมืองสูบไป๊ป์ด้ามยาว ข้างๆ มีเชี่ยนหมาก พลู ยาเส้นวางจีบในซองพลูบนพานทอง  เจ้าเมืองมีผ้าคาดพุง ไว้ผมทรงมหาดไทยแบบสยาม
-แรกเลี้ยงอาหารสไตล์โปรตุเกสที่เมืองปากน้ำ
เอดมันด์ โรเบิร์ตรายงานว่า เจ้าเมืองต้อนรับตนอย่างมีอัธยาศัย สุภาพและมีมารยาท โดยยื่นมือมาจับ(อย่างจริงใจ เมื่อนั่งเก้าอี้เรียบร้อย อาหารที่นำมาเลี้ยงก็จัดอย่างดีที่สุดเท่าที่จะหาได้และถูกนำมาเสิร์ฟถึง 12 จานในสไตล์แบบโปรตุเกส พนักงานเสิร์ฟอาหารก็แต่งตัวสะอาดเรียบร้อย  มีเครื่องดื่มประกอบด้วยน้ำมะพร้าว เหล้ายินขวดเหลี่ยมแบบดัทช์ ผ้าปูโต๊ะก็สะอาดสะอ้าน มีด ส้อม จานและช้อน ส่วนพื้นก็ปูด้วยพรมขนสัตว์ทออย่างดี เจ้าเมืองถามถึงสุขภาพ อายุและลูกๆของคนในคณะทูต และแสดงความยินดีต่อการเดินทางมาถึงโดยสวัสดิภาพของคณะทูต

-จางวางกรมทหารปืนใหญ่โปรตุเกสนำทูตอเมริกันเข้าพักเรีอนหลังงาม : บ้านหลวงรับราชทูต
เอดมันด์ โรเบิร์ตเรียกอยุธยาว่า “Jutaya” ระหว่างแล่นเรือเข้าเมืองบางกอกเป็นช่วงน้ำลด เมื่อเข้าใกล้ถึงเมืองก็แลเห็นเรือนแพค้าขายของชาวจีนลอยเรียงรายอยู่เต็มไปหมดทั้งสองฟากแม่น้ำ จากปากน้ำมาถึงบ้านรับรองราชทูตใช้เวลานานถึง 9 ชั่วโมง เมื่อขึ้นจากเรือเพื่อตั้งขบวนเข้าบ้านพัก ขบวนของคณะทูตนำโดย  “นายพลเอกแห่งกรมทหารปืนใหญ่ (the pia-visa หรือ general of artillery)  ” ชื่อเบเนเดต ดึ อาร์เกลเลเรีย(Benedetts[5] de Arguelleria)[6] และขุนนางผู้อื่นเข้าไปยังบ้านพักหลังงาม ผ่านประตูสีขาว ผนังสร้างแบบก่ออิฐปูนอย่างดี มีสนามหญ้า เมื่อผ่านไปยังประตูชั้นใน ก็พบว่ากำลังอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างขวาง มีตึกขนาบสองด้าน มีต้นไม้ใหญ่อยู่ตรงกลาง
-พ่อครัวที่เรือนรับรองคณะทูตเป็นคนเชื้อสายโปรตุเกส
เมื่อขึ้นบันไดขนาดใหญ่ก็เป็นห้องรับแขก ตั้งโต๊ะรอ สักพักอาหารเย็น(supper)อาหารแบบยุโรปผสมอินเดีย มีทั้งแกงเผ็ดปลาและไก่ก็ถูกนำมาเสิร์ฟอย่างเต็มที่ ตามด้วยขนมหวานและผลไม้ตามฤดู พระราชาธิบดีพระราชทานเตียง โครงเตียง มุ้ง คนทำอาหารและคนส่งอาหารมาให้ และยังได้ส่งพ่อครัวชาวสยามเชื้อสายโปรตุเกส ชื่อ โดมิงกู( Domingo) และคนทำงานบ้านมาประจำที่บ้านพักทูตอีกด้วยรวม 4 คน ทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของปิเอดาดึ เจ้าท่าบางกอก ซึ่งได้รับคำสั่งโดยตรงมาจากพระคลัง[7]
            พระคลังจะส่งขนมหวานและผลไม้มาให้คณะทูตอเมริกันทุกวันหรือสองวันครั้งๆละหลายๆถาด ตึกแถวที่พักของคณะทูตเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้อง ยาวประมาณ 150 ฟุต ด้านหน้ามีลานกว้างขวาง อาคารแต่ละหลังมีห้องรวมด้านละแปดห้อง ขนาด 20 x 20 ฟุต  ปูพื้นไม้ ด้านล่างเป็นสำนักงาน  มุมตึกเป็นห้องอาหารใหญ่เปิดโล่งรับลม เชื่อมอาคารทั้งสองไว้ ด้านล่างโถงอาหารเป็นห้องน้ำ
เอดมันด์ โรเบิร์ตเล่าว่า ปกติแล้วแม่น้ำจะคึกคักไปด้วยเรือจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าที่ติดตลาดจะมีเรือทุกขนาดมาจอแจกันตั้งแต่ขนาดเรือเท่ากับเรือแคนูไปจนถึงเรือยาวนับร้อยฟุตมีฝีพายหลายสิบคน มีกัญญาตรงกลาง คนสัญจรทางน้ำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนำสินค้านานาชนิดมาบายโดยใส่ในถาดทองเหลืองซึ่งทำจากจีน อังกฤษและอินเดีย สินค้าที่นำมาขายได้แก่ ข้าว น้ำมัน ปลาสด ปลาแห้ง กุ้งแห้ง(balachangs) ไข่ สัตว์ปีก หมาก พลู  ปูน(chunam) หมู ผลไม้ ผัก ฯลฯ รวมถึงของกินของใช้ต่างๆ  มีพระสงฆ์จำนวนมากแจวเรือออกมาบิณฑบาต ผู้หญิงพายเรือเก่งพอๆกับผุ้ชาย คนไทยแม้จะไม่สะอาดนักแต่ก็เหนือกว่าชาวโคชินไชน่าหลายเท่า พวกเขาอาบน้ำบ่อยก็เลยไม่เอาแต่เกาตลอดเวลาเหมือนชาวเมืองวุงลัม(Vunglam)ในเวียดนาม แต่ฟันที่ดำสนิทราวกับถ่านของคนไทยดูน่ารังเกียจมากกว่าหลายเท่า และน้ำหมากสีแดงจากการเคี้ยวหมากและยาเส้นยังกระจายฟุ้งเลอะจากปากให้เห็นเสมอ[8]
เอดมันด์ โรเบิร์ตสังเกตเห็นการจับปลาในแม่น้ำ เรือนแพแต่ละหลังจะมีเรือเล็กไว้ใช้สัญจรและติดต่อธุรกิจ ด้านหน้าเป็นร้านค้าวางสินค้าทั้งบนชั้นและทางเดินบนพื้นแพ ตอนกลางคืนก็แปลงเป็นห้องนอน
แม่น้ำบริเวณที่พักของทูตกว้างประมาณ 1,500 ฟุตและลึก 50-60 ฟุต น้ำไหลแรงทั้งตอน้ำขึ้นและน้ำลง สะอาดและใช้อุปโภค-บริโภคในครัวเรือนได้ บ้านบนชายฝั่งยกพื้นสูงหลังคามุงกระเบื้องหรือใบจาก
-นรลักษณ์บางส่วนของพระคลัง
เขาบรรยายรูปร่างลักษณะของพระคลังไว้ว่า [9] เป็นชายร่างใหญ่เทอะทะ น้ำหนักเกือบสามร้อยปอนด์ อายุประมาณ 55 ปี นุ่งผ้าไหมคาดเอว นั่งบนแท่น เอนกายอิงหมอนขวานและหมอนอิงใหม่เอี่ยม บนแท่นมีเชี่ยนหมากทองคำที่ได้รับพระราชทานมา[10] ห้องรับแขกด้านหน้านั้นเปิดโล่ง ตกแต่งด้วยกระจกเงาเดินลายทองรูปไข่เรียบๆ จำนวนมากติดบนยอดเสาใกล้เพดาน  มีภาพฉากสงครามของอังกฤษและชนบทในอังกฤษติดบนผนัง ฉากแก้วลายรูปสัตว์ของจีนสูงสี่ฟุตติดตั้งอย่างหรูหรา มีโคมไฟทองเหลืองทั้งแบบแชนเดอเลียร์(Brass Chandelier)และโคมไฟแก้วแบบธรรมดาแขวนประดับห้องด้วย ด้านซ้ายมือของพระคลัง ซึ่งถือเป็นทิศแห่งเกียรติยศ จัดให้เป็นที่นั่งของเอดมันด์ โรเบิร์ตและกัปตันไกซิงเจอร์(Geisingers) ถัดไประดับเดียวกับที่พระคลังนั่งเป็นเก้าอี้ของคณะทูตที่มาด้วย
-การหมอบคลานของขุนนางแขก ไทย ฝรั่งหรือแม้แต่ลูกๆ ของพระคลัง
ทางด้านขวามือบนพื้นที่ยกสูงแต่ต่ำกว่าระดับที่นั่งของพระคลังและคณะทูต ตรงข้ามกับเอดมัน โรเบิร์ตและกัปตันไกซิงเจอร์ เป็นที่นั่งหมอบของกัปตันปิเอดาดึและคณะล่าม เลขานุการและเจ้าหน้าที่อื่นๆ  รวม 6-7 คน
ด้านหลังของทูตเอดมันด์ โรเบิร์ตมีบุตรชายคนเล็กของพระคลังนั่งอยู่ด้วยสองคน เมื่อได้รับคำสั่งจากบิดา บุตรคนหนึ่งของพระคลังก็คลานไปหาบิดาเช่นเดียวกับผู้อื่นและคลานกลับมายื่นบุหรี่มวนด้วยใบปาล์มแก่เอดมันด์ โรเบิร์ตและกัปตันไกซิงเจอร์ก่อนจะคลานกลับไปนั่งที่เดิม[11]
วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1832 เอดมันด์ โรเบิร์ต ไปร่วมงานโกนจุกบุตรของพี่ชายพระคลัง เขาตื่นเต้นกับการแสดงกายกรรมแบบต่อตัวสูงเพราะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เอดมันด์          โรเบิร์ตเรียก “ฆ้องวง” ว่า “ฆ้องนง- Knong-nong)[12]
-ไฟไหม้โบสถ์ซางตาครูซและพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวคริสต์
วันที่11 มีนาคม ค.ศ.1832  เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่โบสถ์ซางตาครูซ ใกล้กับที่พักทูตและดับลงก่อนถึงเขตบ้านรับรองราชทูต ทำให้บ้านซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่และหลังคามุงจากติดไฟง่ายเสียหายจำนวนมาก  ทำให้บรรดาคนยากจนได้รับความเดือดร้อน ทั้งบ้านทั้งทรัพย์สิน  เหลือเพียงเสื่อ  เครื่องครัว หม้อดิน เหยือกน้ำ ผ้าเคียนเอวและผ้าผ่อนผืนเล็กๆ ไม่กี่ชิ้น แต่ก็ยังถูกขโมยมาฉกซ้ำไปอีก มีกระท่อมประมาณ 150 หลังถูกไฟไหม้ และผู้ได้รับความเดือดร้อน 50 – 60 คนเข้ามาอยู่ในบ้านทูตและตามห้องว่างในบ้านรับรองทูต และได้รับการเลี้ยงจากทูตอย่างดีหลายวัน [13]
พระราชาธิบดีและพระคลังได้พระราชทานและมอบไม้ไผ่มาสร้างบ้านใหม่ จากนั้นข้าวสารและของใช้ก็ถูกเพื่อนบ้านซึ่งรอดพ้นจากการถูกไฟไหม้นำมามอบให้ผู้เดือดร้อน ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้ทุกคนต่างก็ช่วยกันสาดน้ำใส่กองเพลิงและบ้านซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ส่วนเรือนแพจำนวนมากใกล้ที่เกิดเหตุก็ปล่อยสายโยงล่องลงไปตามกระแสน้ำลง ชาวเรือนแพต่างก็เล่าลือกันไปต่างๆ นานา ถึงความเดือดร้อนที่ได้ประสบ มีคนตายสี่คนพร้อมกับข้าวของในแพ  พ่อค้าจีนถูกไฟครอกตาย 2 คน ในแพ ต่อมาเมื่อน้ำขึ้น แพเหล่านั้นก็ถูกเคลื่อนย้ายกลับมาตั้งที่เดิม
-ลางร้ายอีแร้งเกาะหลังคาบ้านเจ้าท่าโปรตุเกส
เอดมันด์ โรเบิร์ตได้ยินมาว่า ก่อนหน้านั้นหมอดูชาวสยามได้พยากรณ์ว่า จะเกิดไฟไหม้ เนื่องจากมีผู้เห็นนกแร้งเกาะบนหลังคาบ้านของเจ้าท่าโปรตุเกส  บ้านของเจ้าท่าซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโบสถ์โรมันคาทอลิกก็ถูกไฟไหม้ไปด้วย แต่โบสถ์กลับไม่ได้รับอันตรายจากไฟไหม้ครั้งนี้ เพราะสร้างเสร็จแต่ผนังเท่านั้น   เอดมันด์ โรเบิร์ตระบุว่า จากความยากจนของชาวคริสเตียนเหล่านี้ เขาเชื่อว่า อีกหลายปีกว่าจะสร้างโบสถ์ได้สำเร็จ บ้านเก่าด้านหลังสร้างด้วยไม้หลังคามุงจากก็มีสภาพทรุดโทรม มีโบสถ์คริสต์อีก4 แห่งในบางกอกและชานเมือง  และอีกหนึ่งแห่งที่อยุธยา นอกนั้นกลายเป็นซากโบสถ์ไปแล้ว[14]
วันที่13 กุมภาพันธ์ คณะทูตไปชมช้างเผือกและช้างสำคัญหลายเชือก จากนั้นก็ไปชมถนน บ้านเรือน ร้านรวงและแผงลอยเนื้อไก่ หมูผักและผลไม้ สินค้าจีน อินเดียและยุโรปส่วนใหญ่จะวางขายในตลาดลอยน้ำ(floating bazars)มากกว่า เอดมันด์ โรเบิร์ตรายงานว่าพบเห็นผู้คนน้อยมาก
วัตถุประสงค์หลักของเขาในการเข้าเมืองครั้งนี้คือการไปชมพระเมรุมาศที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งเสด็จทิวงคตไปเมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว เขาอธิบายเกี่ยวกับกรรมวิธีในการจัดการพระศพและลักษณะพระเมรุมาศไว้อย่างละเอียด[15]
-ดินเนอร์แบบ “A la Siamese and Portuguese” ที่บ้านพระคลัง
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เอดมันด์ โรเบิร์ต กล่าวถึงการได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงโกนจุกบุตรชาย 2 คนและหลานชาย 1 คน ที่บ้านพระคลัง มีกงสุลโปรตุเกส ชื่อ ซิลไวรู(Silveiro)ไปร่วมงานด้วย เป็นการเชิญล่วงหน้า 10 วันแต่ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีกเป็นระยะๆ  เอดมันด์ โรเบิร์ตคุยว่า งานสำเร็จลงได้เพราะพระคลังได้ขอยืมตัวพ่อครัวคนหนึ่งในสองของคณะทูต โต๊ะ แก้วน้ำ แก้วไวน์  หม้ออบ(tureens) ทัพพี ช้อน ฯลฯ จากทูตอเมริกัน  พระคลังแจ้งให้ทราบว่า ตนยังไม่มีไวน์และขอให้ทูตนำไวน์มาช่วยงานในปริมาณที่จำเป็นด้วย ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมง ก็มีเรือกัญญา(เรือมีหลังคาคลุม)มารับเอดมันด์ พระคลังรออยู่ในห้องรับแขก โดยมีอาหารเย็นวางรออยู่แล้วบนโต๊ะ  มีการทักทายกันตามมารยาท และเมื่อเรานั่งลงเพื่อเริ่มรับประทานอาหารเย็น  ก็มีเสียงดนตรีบรรเลงออกมาจากภายในบ้านคลอไปกับเสียงของนักร้องหญิง ระหว่างงานเลี้ยงก็มีคนมานั่งหมอบลงกับพื้น(crouching to the ground) อย่างสงบเสงี่ยม เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ในสนามหน้าบ้าน  เอดมันด์ โรเบิร์ตคิดว่า น่าจะมาดู “เรา” กินข้าว และดูนายทหารแต่งกายเต็มยศ  ไม่มีใครแสดงพฤติกรรมรุ่มร่ามโวยวายเหมือนอย่างที่จอห์น ครอว์ฟอร์ด(John Crawford) และคนอื่นๆ เคยบันทึกเอาไว้เลย มีแต่ความเงียบและการแสดงความเคารพเท่านั้น[16]
อาหารเย็นมื้อนั้นเป็นแบบ “A la Siamese and Portuguese”[17] เวทีการแสดงหกสูง(vaulters and tumblers)ถูกยกขึ้นกลางลานบ้าน และการแสดงที่น่าแปลกใจก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อของหวานถูกนำมาเสิร์ฟ อันประกอบด้วยขนมอบและผลไม้สามสิบจาน (some thirty confectionary and fruit) การแสดงดังกล่าวประกอบด้วยผู้แสดง 12 คน ผู้แสดงสังกัดในกรมของเจ้าฟ้าน้อย หรือ ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย เช่นเดียวกับการแสดงในจวนของพี่ชายพระคลังเมื่อ 2-3 วันก่อนหน้านั้น  หลังจากเปิดม่านออกแล้ว  เอดมันด์ โรเบิร์ต ได้ยืนดื่มอวยพรสมเด็จพระราชาธิบดีสยาม พระคลังดื่มอวยพรประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา มีการดื่มอวยให้แก่บุคคลอื่นๆ อีก 2-3 ครั้ง  คณะกายกรรมหกสูงแสดงเป็นเวลานานถึง 2 ชั่วโมง จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน  จากนั้นนักแสดงชายหญิงจำนวน 12 คน แต่งตัวอย่างหรูหราก็ออกมาร่ายรำและแสดงระบำ(pantomimes : ละครใบ้) จนเลยสามทุ่ม คณะทูตซึ่งเหน็ดเหนื่อยกับการชมการแสดงจึงขอตัวกลับ เราเข้าใจว่าการแสดงคงจะมีต่อไปจนถึงหลังเที่ยงคืน ส่วนดนตรีก็บรรเลงในแบบเดียวกับที่เราเคยได้ชมมาแล้ว
-ยลโฉมภรรยาและบุตรของพระคลัง
 ขณะนั้นปรากฏว่า ม่านสามผืนซึ่งขึงบังคูหาด้านในของเรือนก็ถูกดึงขึ้น  เมื่อนักแสดงเริ่มสวมบทบาท ประตูทั้งสามบานก็ออแน่นไปด้วยภรรยาทั้งหลายของพระคลัง แถวหน้าเป็นลูกๆ ของพระคลัง ทั้งหมดสวมสร้อยและกำไลมือ ประทินผิวด้วยขมิ้นเหลือง เพื่อให้ผิวพรรณดูยองใย ผู้หญิงเหล่านี้มิได้มีกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นปูดโปนดังที่เราเคยเห็นมาก่อน รูปร่างแบบบางและปกปิดเรือนร่างมิดชิด บางคนมีผิวพรรณเกือบจะเรียกได้ว่าขาว แต่ละนางแต่งกายด้วยผ้าไหมรัดอกและเอวสีเข้ม(sombre-culours) แต่ไม่สวมเครื่องประดับอัญมณี แม้แต่หญิงที่อายุน้อยสุดก็มีฟันสีดำราวกับถูกพ่นสี  ส่วนริมฝีปากและเหงือกนั้นดูเผือดซีด[18]
ผู้ใหญ่ทุกคนมีส่วนร่วมในการโกนจุกของเด็กผู้ชาย  อย่างไรก็ตาม โดยมีลักษณะคล้ายๆ กับการถ่อมตน แต่จากการยิงปืนนกสับ 2-3 กระบอก การจุดดอกไม้ไฟ การมีดนตรี นาฏศิลป์และการแสดงหลายอย่าง ดูเหมือนว่า มีการคาดหวังจะได้รับของขวัญญาติ มิตร  คนรู้จัก เพื่อมอบให้แก่เด็กชายที่เข้าพิธี แต่ของขวัญที่มีค่าใกล้เคียงกันก็ถูกคาดหมายเอาไว้แล้วว่าจะได้รับกลับคืน ซึ่งพฤติกรรมทำนองเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในงานของขุนนางระดับสูงเสมอ
-เอดมันด์ โรเบิร์ต ระบายความในใจถึง Culture Shock ในสยาม
เพื่อที่จะแสดงออกถึงความไม่พัฒนาแบบสุดๆ ของคนเหล่านี้  แม้กระทั่งในหมู่คนชั้นสูง ปิเอดาดึ เจ้าท่าเมืองบางกอกจึงถูกพระคลังส่งให้ไปพบเอดมันด์ โรเบิร์ต  เพื่อแจ้งให้ทราบว่าคณะทูตจากสหรัฐอเมริกาจะต้องมอบของกำนัลแก่พระคลังเช่นเดียวกับจอห์น ครอว์ฟอร์ด(Crawford)และกงสุลโปรตุเกสได้ทำมาแล้วก่อนหน้านั้น ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนนี้ เพื่อเห็นแก่การทำสนธิสัญญา ซึ่งยังมีอีก 2 ประเด็น ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เอดมันด์ โรเบิร์ตจึงโอนอ่อนไปตามข้อเรียกร้องเรื่องของกำนัล โดยมอบเหรียญเงินจำนวน 100 ดอลลาร์ ใส่ลงไปในแจกันทองคำ ซึ่งนายพลเอกเบเนดิโตแห่งกรมทหารปืนใหญ่เป็นผู้นำมา พร้อมกับแนบข้อความอวยพรแก่บุตรของพระคลังจากตนไปด้วย เอดมันด์ โรเบิร์ตวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า นับเป็นทั้งเรื่องที่น่าหัวเราะและน่ารังเกียจมากที่ได้เห็นนายพลเอกซึ่งมีฐานะเป็นถึงขุนนางอันดับที่11 และมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยา กำลังคลานสี่เท้าบนพื้น แต่งกายด้วยชุดเสื้อคลุมผ้าไหมลาย สวมสร้อยคอทองคำเส้นใหญ่ คล้ายการแต่งกายในศตวรรษที่15 ซุกหน้าอยู่กับแจกันทองคำไปจนกระทั่งมอบแก่พระคลัง จากนั้นก็กราบพระคลังลงบนพื้นด้วยมือสองข้างที่ประนมไว้ แล้วก็ถอยกลับด้วยกิริยาอันนอบน้อม และขยับมาถ่ายทอดคำขอบใจจากพระคลังให้แก่เอดมันด์ โรเบิร์ตต่อมาแจกันทองคำใบนั้นก็ถูกนำมาวางบนโต๊ะด้านหน้า  แล้วส่งต่อให้ชายสองคน คนแรก เป็นเหรัญญิก( the treasure) อีกคนน่าจะเป็นชาวมัวร์ เลขานุการชาวจูเลี่ยห์(Chuliah secretay) ผู้ซึ่งมักจะปรากฏตัวออกมาด้วยการคลานสี่เท้าพร้อมกับกระดาษสีดำ กระดานชนวนและดินสอในมือทุกครั้งที่มีการเจรจาทางธุรกิจเกิดขึ้น เหรียญเงินดอลลาร์ถูกนำออกมานับต่อหน้าของเอดมันด์ โรเบิร์ต   จากนั้นก็แจ้งให้พระคลังทราบว่าจำนวนเงินนั้น “ถูกต้องแล้วขอรับ!!!” (…and report to the Praklang to be alright !!!)[19]
ก่อนหน้านั้นประมาณ 1-2 วัน เอดมันด์ โรเบิร์ตได้มอบนาฬิกาเรือนทองประดับมุก ผ้าไหม 2 หีบ ตะกร้าถักจากเส้นลวดเงิน ขอบทองประดับด้วยรูปเคลือบ จำนวน 4 ใบแก่พระคลังไปแล้ว  ซึ่งของดังกล่าวนั้น เขาตั้งใจจะมอบให้เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้ว แต่โดยที่พระคลังได้ทราบมาก่อนล่วงหน้าว่า เอดมันด์ โรเบิร์ตมีของจะมากำนัลท่าน จึงส่งเจ้าท่าปิเอดาดึมาสอบถามว่า ของขวัญดังกล่าวเป็นอะไร และคิดเป็นราคาเท่าใด วันรุ่งขึ้นเจ้าท่าปิเอดาดึก็กลับมาพร้อมกับบุตรชายคนโตของพระคลัง ซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นอันดับสองจากในจำนวนขุนนาง 4 คน   ที่ดูแลพระราชมนเทียนของพระราชาธิบดี คือ  “หลวงนายสิทธิ์”  เพื่อขอตรวจสอบของกำนัลและสินค้าคงคลังที่นำมา โดยเจ้าท่าบางกอกแจ้งเป็นนัยแก่เอดมันด์ โรเบิร์ตว่า งานของเขาจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากพระคลังได้รับของกำนัล แม้เอดมันด์ โรเบิร์ต  จะเห็นว่า ออกจะเป็นการไม่เหมาะสมที่จะมอบของกำนัลแก่พระคลังก่อนจะได้เข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระราชาธิบดี แต่เขาก็ยินยอมทำตามคำขอดังกล่าว โดยบอกกับตนเองว่า นี่เป็นการมอบให้โดยการคำสั่งและบ่ายวันนั้นของกำนัลดังกล่าวก็ถูกขนไป[20]

[2]http://www.literatureandhistory.go.th/index.php?app=academic&fnc=showlist&cateid=983&apptype=academic2
[3] ต้นฉบับหน้า 303 ระบุคำนำหน้านามว่า ซินญอร์ โยเซ ดา ปิเอดาดึ (Sur-Jose-da –Piedade)
[4]Edmund Roberts,  Embassy to the Eastern courts of Cochin-china, Siam and Muscat; in the US Sloop of War Peacock David Geisinger, Commander, during the Years 1832 -3-4 by Edmund Roberts, New York : Harpers Brothers,  1837 , p.230
[5] Edmund Roberts, ibid., p.246 ระบุชื่อว่า “Beneditto” ในเอกสารอื่นของไทยดูเหมือนจะระบุชื่อว่า  “Benedict”
[6] หน้า 303 ระบุคำนำหน้านำและชื่อสกุลว่า Sur-Beneditto-de –Arvellegeria
[7] Edmund Roberts,  ibid., pp 234-235. เอดมันด์ โรเบิร์ต กล่าวถึงพระคลังคนที่2 คือ พระยาพิพัฒน์โกษา , ibid., p.252
[8] Edmund Robert, ibid ,pp. 235-236
[9] P.236
[10] P.237
[11] P.238
[12] p.239
[13] pp.240-241
[14] P.241
[15] P.242-244
[16] P.245
[17] P.245
[18] P.245
[19] P.246
[20] P.247

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ราชบัณฑิตยสถานกับการแก้ไขคำสะกดทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ราชบัณฑิตยสถานกับการแก้ไขคำสะกดทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ราชบัณฑิตเจ้าขา...ดิฉันอยากเห็นงานงามๆ อย่างที่ดร.วิสุทธ บุศยกุล(ถึงแก่กรรม ด้วยความคารวะและอาลัยอย่างสูง)ทำ ร่วมกับ Dirk van Der CruysseและMichael Smithies เรื่อง The Diary of Kosa Pan (Ok-Phra Wisut Sunthorn) Thai Ambassador to France June-July 1686. ท่านเหล่านี้ตีโจทย์แตกหลายเรื่อง โดยเฉพาะชื่อฝรั่งเศสที่ท่านโกษาปานบันทึกเสียงเป็นภาษาไทยที่ค้างไว้ตั้งแต่สมัยที่หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย นำสำเนากลับมาไทย

เมื่อ หลายสิบปีก่อน อาทิ มูสูรวิตง(Monsieur Raviton) บาตรีกาละเมริตา(Padre Carmelita) มูสูอินตังตัง(Monsieur l'Intendant) เมสีผู้ใหญ่(senior doctor) ฯลฯ แม้ว่าบางคำจะถูกลากเข้าฝรั่งเศสมากไปหน่อย (เช่น เมสีผู้ใหญ่นั้นน่าจะมาจากรากศัพท์โปรตุเกส )แต่ก็จุดประกายปัญญาให้นักเรียนโข่งได้มากมายเหลือเิกินเจ้า่ค่ะ เรื่องศัพท์แสงสมัยใหม่ท่านอย่าใส่ใจมากนักเลยเจ้าค่ะ ราชบัณฑิตแต่ละท่านท่านล้วนมีศักยภาพและปัญญาบารมีสูงทางด้านศัพท์แสงโบราณ ขอให้ท่านใช้พลังให้ถูกครรลองเถิด... ดิฉันมิอยากเห็นศัพท์แสงตระกูลละมุลภัณฑ์ กระด้างภัณฑ์อีกแล้วเจ้าค่ะ... 

มีตำรา..หนังสือโบราณ.. หรือ.. ประชุมพงศาวดารหลายภาค ..ที่รอท่านสานต่อพระอรรถาธิบายในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯลฯ ...ราชบัณฑิตเจ้าขา..ดิฉันมิได้จาบจ้วงนะเจ้าคะ..ท่านอย่าฝืนโหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงลูกข่างลูกคิดอีกต่อไปเลยเจ้าค่าาาา...

ราชบัณฑิตเจ้าขา ...ประชุมพงศาวดารเรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์..."...เจ้ากรุงอังกฤษจึงใช้ให้หิศเอก สเลนซีเยียมบรุกเนกคะมันเดอออดนิโมด เนาเปออริบัดเปนเจ้าเมืองสรวะและเมืองลาบอน..." ฯลฯ 

"ลุอิศณโปเลซิง"นั้นซิงยังไงหรือเจ้าคะถึงได้เปนเจ้าผู้แผ่นดินผู้ครองเมืองฝรั่งเศส?...เมื่อผ่านสมัยของท่านเหล่านี้ ผู้ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ในอดีตได้ดีก็คือท่านราชบัณฑิตนะแหละเจ้าค่ะ เรื่องร่วมสมัย คำร่วมสมัยท่านไม่อธิบายดิฉันก็พอจะเข้าใจได้ไม่ยากเย็น!

ไม่เพียงแต่แวนโก๊ะจะทิ้งรอยฝีแปรงไว้บนดอก ทานตะวันในแจกัน เขายังสร้างความมีชีวิตชีวาไว้บนกลีบดอกของมันด้วย แม้ทานตะวันบางดอกจะทำท่าเหมือนอยากจะทิ้งตัวลงจากยอดก้าน แต่ก็พร้อมจะระริกระรี้ขึ้นมาใหม่ได้ทุกมุมมอง



เมื่อเกิดปัญหาจะเข้าตาจน หน่วย งานแรกที่มักจะถูกคิดถึงมากที่สุดหน่วยงานหนึ่งก็คือราชบัณฑิต 

"ถามราชบัณฑิตยสถาน"ดีกว่า 

แต่พอมาถึงสมัยนี้ราชบัณฑิตกลับมาถามประชาชนด้วยแบบสอบถามจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับความเห็นที่มี ต่อคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ ...

ไม้หลักก็ต้องปักให้ถูกที่ ยิ่งถึงดานก็ยิ่งดี ยิ่งพึ่งพาอาศัยได้ยั่งยืน

นี่จะถึงยุคดอกทานตะวันของแวนโก๊ะโรยราเสียแล้วหรือ...

ในสภาวะวิกฤตหลังญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านสยามไปพม่าเมื่อ 8 ธค. 2484 รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามต้องใช้วิเทโศบายออกรัฐนิยมให้ชาวสยามสะกดคำไทยให้ตรงตามเสียง เพื่อเลี่ยงการถูกญี่ปุ่นบังคับให้รัฐบาลสยามใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาทางการ อีกหนึ่งภาษา โดยปรับเปลี่ยนคำที่มีรากศัพท์มาจากต่างประเทศให้สะกดตรงตามเสียงแบบไทย อาทิ ประเทศแก้เป็น ปะเทด กระทรวง แก้เป็น กะซวง ฯลฯ ซึ่งอ่านแล้วก็เกิดความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ เพราะเป็นภาษาเขียนที่สร้างความสนุกสนานตลกขบขันให้แก่ลูกหลานไทยชั้นหลัง เป็นอย่างยิ่ง !?

จนในที่สุดก็ทำให้เราได้พจนานุกรมภาษาไทยฉบับพุทธศักราช 2493 ขึ้นมาใช้อีกหนึ่งฉบับ จะถือเป็นโชค หรือ เคราะห์ดีล่ะ...

ปัญหา คือ ตอนนี้สังคมกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอะไรที่รุนแรงอยู่จนถึงขั้นที่ราชบัณฑิตจะต้องเข้ามารื้อสร้างวางระบบการเขียนและสะกดคำภาษาต่างประเทศใหม่ให้ เกิดความสับสน..!?