จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ราชบัณฑิตยสถานกับการแก้ไขคำสะกดทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ราชบัณฑิตยสถานกับการแก้ไขคำสะกดทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ราชบัณฑิตเจ้าขา...ดิฉันอยากเห็นงานงามๆ อย่างที่ดร.วิสุทธ บุศยกุล(ถึงแก่กรรม ด้วยความคารวะและอาลัยอย่างสูง)ทำ ร่วมกับ Dirk van Der CruysseและMichael Smithies เรื่อง The Diary of Kosa Pan (Ok-Phra Wisut Sunthorn) Thai Ambassador to France June-July 1686. ท่านเหล่านี้ตีโจทย์แตกหลายเรื่อง โดยเฉพาะชื่อฝรั่งเศสที่ท่านโกษาปานบันทึกเสียงเป็นภาษาไทยที่ค้างไว้ตั้งแต่สมัยที่หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย นำสำเนากลับมาไทย

เมื่อ หลายสิบปีก่อน อาทิ มูสูรวิตง(Monsieur Raviton) บาตรีกาละเมริตา(Padre Carmelita) มูสูอินตังตัง(Monsieur l'Intendant) เมสีผู้ใหญ่(senior doctor) ฯลฯ แม้ว่าบางคำจะถูกลากเข้าฝรั่งเศสมากไปหน่อย (เช่น เมสีผู้ใหญ่นั้นน่าจะมาจากรากศัพท์โปรตุเกส )แต่ก็จุดประกายปัญญาให้นักเรียนโข่งได้มากมายเหลือเิกินเจ้า่ค่ะ เรื่องศัพท์แสงสมัยใหม่ท่านอย่าใส่ใจมากนักเลยเจ้าค่ะ ราชบัณฑิตแต่ละท่านท่านล้วนมีศักยภาพและปัญญาบารมีสูงทางด้านศัพท์แสงโบราณ ขอให้ท่านใช้พลังให้ถูกครรลองเถิด... ดิฉันมิอยากเห็นศัพท์แสงตระกูลละมุลภัณฑ์ กระด้างภัณฑ์อีกแล้วเจ้าค่ะ... 

มีตำรา..หนังสือโบราณ.. หรือ.. ประชุมพงศาวดารหลายภาค ..ที่รอท่านสานต่อพระอรรถาธิบายในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯลฯ ...ราชบัณฑิตเจ้าขา..ดิฉันมิได้จาบจ้วงนะเจ้าคะ..ท่านอย่าฝืนโหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงลูกข่างลูกคิดอีกต่อไปเลยเจ้าค่าาาา...

ราชบัณฑิตเจ้าขา ...ประชุมพงศาวดารเรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์..."...เจ้ากรุงอังกฤษจึงใช้ให้หิศเอก สเลนซีเยียมบรุกเนกคะมันเดอออดนิโมด เนาเปออริบัดเปนเจ้าเมืองสรวะและเมืองลาบอน..." ฯลฯ 

"ลุอิศณโปเลซิง"นั้นซิงยังไงหรือเจ้าคะถึงได้เปนเจ้าผู้แผ่นดินผู้ครองเมืองฝรั่งเศส?...เมื่อผ่านสมัยของท่านเหล่านี้ ผู้ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ในอดีตได้ดีก็คือท่านราชบัณฑิตนะแหละเจ้าค่ะ เรื่องร่วมสมัย คำร่วมสมัยท่านไม่อธิบายดิฉันก็พอจะเข้าใจได้ไม่ยากเย็น!

ไม่เพียงแต่แวนโก๊ะจะทิ้งรอยฝีแปรงไว้บนดอก ทานตะวันในแจกัน เขายังสร้างความมีชีวิตชีวาไว้บนกลีบดอกของมันด้วย แม้ทานตะวันบางดอกจะทำท่าเหมือนอยากจะทิ้งตัวลงจากยอดก้าน แต่ก็พร้อมจะระริกระรี้ขึ้นมาใหม่ได้ทุกมุมมอง



เมื่อเกิดปัญหาจะเข้าตาจน หน่วย งานแรกที่มักจะถูกคิดถึงมากที่สุดหน่วยงานหนึ่งก็คือราชบัณฑิต 

"ถามราชบัณฑิตยสถาน"ดีกว่า 

แต่พอมาถึงสมัยนี้ราชบัณฑิตกลับมาถามประชาชนด้วยแบบสอบถามจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับความเห็นที่มี ต่อคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ ...

ไม้หลักก็ต้องปักให้ถูกที่ ยิ่งถึงดานก็ยิ่งดี ยิ่งพึ่งพาอาศัยได้ยั่งยืน

นี่จะถึงยุคดอกทานตะวันของแวนโก๊ะโรยราเสียแล้วหรือ...

ในสภาวะวิกฤตหลังญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านสยามไปพม่าเมื่อ 8 ธค. 2484 รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามต้องใช้วิเทโศบายออกรัฐนิยมให้ชาวสยามสะกดคำไทยให้ตรงตามเสียง เพื่อเลี่ยงการถูกญี่ปุ่นบังคับให้รัฐบาลสยามใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาทางการ อีกหนึ่งภาษา โดยปรับเปลี่ยนคำที่มีรากศัพท์มาจากต่างประเทศให้สะกดตรงตามเสียงแบบไทย อาทิ ประเทศแก้เป็น ปะเทด กระทรวง แก้เป็น กะซวง ฯลฯ ซึ่งอ่านแล้วก็เกิดความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ เพราะเป็นภาษาเขียนที่สร้างความสนุกสนานตลกขบขันให้แก่ลูกหลานไทยชั้นหลัง เป็นอย่างยิ่ง !?

จนในที่สุดก็ทำให้เราได้พจนานุกรมภาษาไทยฉบับพุทธศักราช 2493 ขึ้นมาใช้อีกหนึ่งฉบับ จะถือเป็นโชค หรือ เคราะห์ดีล่ะ...

ปัญหา คือ ตอนนี้สังคมกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอะไรที่รุนแรงอยู่จนถึงขั้นที่ราชบัณฑิตจะต้องเข้ามารื้อสร้างวางระบบการเขียนและสะกดคำภาษาต่างประเทศใหม่ให้ เกิดความสับสน..!?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น