จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คู่มือนำชมวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง

ขอขอคุณแหล่งข้อมูลจากพระบรมมหาราชวังเป็นอย่างยิ่ง

พระบรมมหาราชวัง
เมื่อนำนักท่องเที่ยวผ่านเข้าประตูวิเศษไชยศรี เข้ไปในบริเวณพระบรมมหาราชวังแล้วให้หยุดตรงบริเวณที่จอดรถสักครู่หนึ่งก่อน เพื่อแนะนำประวัติความเป็นมาของพระบรมมหาราชวัง

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จครองราชสมบัติใน พ.ศ.๒๓๒๕ แล้ว ทรงโปรดฯ ให้สถาปนาพระราชวังใหม่ ณ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในที่ซึ่งเป็นพระบรมมหาราชวังทุกวันนี้ทั้งให้สร้างอารามขึ้นในพระราชวัง พระราชทานนามพระอารามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การสร้างพระนครนี้ใช้เวลา ๓ ปี จึงสำเร็จ ใน พ.ศ. ๒๓๒๘“

“พระราชวังที่สร้างขึ้น ได้ถ่ายแบบจากพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของไทย เมื่อสมัย ๖00 ปีมาแล้ว”

“อาณาบริเวณพระบรมมหาราชวัง มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น ๑๕๒ ไร่ ๒ งาน”

เมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ ณ จุด ก. (เขตพระราชวังชั้นนอก) หันหน้าเข้าสู่เขตพระราชวังชันใน ด้านซ้ายมือจะเป็นสนามหญ้า และมีฉากหลังเป็นพระศรีรัตนเจดีย์ ยอดมณฑปและยอดปรางค์ปราสาทพระเทพบิดรในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้เวลานักท่องเที่ยวถ่ายภาพในจุดนี้สักครู่หนึ่งก่อน จากนั้นนำเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามต่อไป

ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จุดแรกที่จะพบคือ รูปปั้นฤษีองค์หนึ่ง มัคคุเทศก์จะชี้ให้นักท่องเที่ยวชมแล้วพานักท่องเที่ยวเลี้ยวซ้ายไปยังภาพฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในพระระเบียง

๑. รูปปั้นฤษี
“แพทย์แผนโบราณของไทยนับถือฤษีในฐานะเป็นครูผู้ประสาทวิชารักษาโรคตั้งแต่อดีตกาล หลังรูปปั้นฤษีคือพระอุโบสถที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

๒. ภาพฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
“ที่ผนังพระระเบียงด้านใน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ มีคำโคลงอธิบายภาพจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้ที่เสาระเบียง ภาพมีทั้ง ๑๗๘ ห้อง ห้องที่ ๑ ซึ่งเป็นภาพตั้งต้นจะอยู่ตรงกับวิหารยอด และเวียนเป็นทักษิณาวัตร จนบรรจบครบรอบ”

“ภาพรามเกียรติ์นี้เริ่มเขียนครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑ แต่ได้ลบเขียนซ่อมแซมใหม่มาแล้วหลายครั้งด้วยกัน”

ใจความเรื่องรามเกียรติ์มีดังนี้

“ทศกัณฐ์หรือราพณาสูร ยักษ์ที่ครองเมืองลงกา ฉุดนางสีดามเหสีของพระรามไปยังเมืองลงกา เมื่อพระรามทราบจึงออกติดตามและเกิดสงครามระหว่างฝ่ายพระรามและฝ่ายทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์มีญาติพี่น้องมาก และได้เกณฑ์กองทัพยักษ์มาสู้กับพระราม พระรามได้กองทัพลิงและมีหนุมานเป็นทหารเอกกับมีผู้ช่วยอื่นๆ อีกมาก ในที่สุดทศกัณฐ์แพ้และพระรามได้นางสีดากลับคืน”

“เรื่องของรามเกียรติ์ได้รับความนิยมในประเทศไทยและประเทศข้างเคียงมาก ในประเทศไทยศิลปกรรมหลายประเภทเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ความนิยมของเราเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมาก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อเมืองอยุธยา ก็เลียนมาจากอโยธยา เมืองหลวงของพระราม พระนามของพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีพระฉายานามว่า รามาธิบดีหลายองค์ พระนามของพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในภาษาอังกฤษก็ขนานนามพระองค์ว่าราม (รามา) ด้วยเช่นกัน ในรัชสมัยปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า “King Rama IX”

๓. ยักษ์ยืนประตู
“ยักษ์ยืนประตูเป็นรูปยักษ์ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ สร้างด้วยปูนปั้นทาสี และประดับด้วยกระเบี้องเคลือบสีต่าง ๆ สูงประมาณ ๖ เมตร ตั้งประจำที่ช่องประตูพระระเบียงเป็นคู่ ๆ รวม ๖ คู่ หันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถยักษ์ยืนประตูนี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ คู่ที่ยืนอยู่ตรงช่องประตูระหว่างพระอุโบสถกับฐานไพทีคือทศกัณฐ์กับสหัสเดชะ”

ให้เวลานักท่องเที่ยวถ่ายรูปกับยักษ์สักครู่หนึ่งก่อน แล้วเริ่มอธิบายรายละเอียดของพระเจดีย์และพระมณฑป
๔. พระศรีรัตนเจดีย์
“พระศรีรัตนเจดีย์ อยู่บนฐานไพที สร้างในรัชกาลที่ ๔ ตามแบบพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของไทยเมื่อประมาณ ๖00 ปีมาแล้ว มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมตามแบบลังกา”

“ภายในพระศรีรัตนเจดีย์ประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็กซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเจดีย์ทรงกลมปิดทองทั่วทั้งองค์ ตั้งอยู่บนฐานประดับกระจกและลายทอง”

“ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ประดับกระเบื้องสีทองพระศรีรัตนเจดีย์ทั้งองค์ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้”
๕. พระมณฑป
“พระมณฑปตั้งอยู่บนฐานไพทีเช่นกัน ณ ด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร สร้างในรัชกาลที่ ๑ สำหรับประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทอง ภายในพระมณฑปมีตู้พระไตรปิฎก เป็นตุ้ทรงมณฑปประดับมุก”

เชิญนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนฐานไพที ไปชมพระมณฑปใกล้ ๆ

“ผนังด้านนอกเป็นรูปเทพนมปิดทองประดับกระจก มีรูปหล่อโลหะปิดทองรูปเทพนม ครุฑและยักษ์ประดับโดยรอบ บันไดทางขึ้นพระมณฑปตกแต่งเป็นนาคจำแลง คือนาคที่มีหน้าเป็นมนุษย์รวม ๕ เศียร ปลายพลสิงห์บันไดมีรูปยักษ์ยืนถือกระบองเฝ้าอยู่บันไดละ ๒ คน”

“ที่มุมชานมณฑปทั้ง ๔ มุม ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา มุมละ ๑ องค์ เป็นพระพุทธรูปศิลาศิลปะขวาจำลองจากองค์จริงเรื่องรัฐบาลฮอลันดาน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสเกาะขวา ขณะนี้องค์จริงได้นำไปประดิษฐานไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดฯ”

พานักท่องเที่ยวชมบุษบก
“รอบพระมณฑป จะมีบุษบกพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลตั้งอยู่ ๔ มุม ภายในบุษบก มีพานแว่นฟ้าประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลต่าง ๆ มีฉัตร ๗ ชั้น ตั้งอยู่ที่ฐานบุษบกทั้ง ๔ มุม นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อช้างเผือกในรัชกาลตั้งอยู่ที่ฐานรายรอบบุษบกด้วย”
จากนั้นพานักท่องเที่ยวเดินเลาะอ้อมพระศรีรัตนเจดีย์ไปทางซ้าย ไปหยุดแวะชมนครวัดจำลอง
๖. นครวัดจำลอง
“รัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้พระสามภพพ่าย จำลองมาจากปราสาทหินนครวัด เมืองเสียมราฐประเทศกัมพูชาเพื่อให้ประชาชนชม โดยถือออว่าเป็นสิ่งแปลก แต่การสร้างทิ้งค้างไว้จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ”

๗. วิหารยอด
หากยืนหันหน้าเข้าหานครวัดจำลองมองเลยออกไปข้างหลังจะเห็นวิหารยอด อาคารใหญ่ทางซ้ายมือจะเป็นหอพระนาก และอาคารทางขวามือของเราจะเป็นหอพระมณเฑียรธรรม อธิบายอย่างย่อ ๆ ให้นักท่องเที่ยวฟัง

“วิหารยอด สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ลักษณะเป็นอาคารยอดทรงมงกุฎ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระนากและพระพุทธรูปอื่น ๆ บานประตูด้านหน้าวิหารยอดเป็นบานประตูประดับมุก ฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งนำมาจากบานประตูวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง”

“อาคารทางขวามือนั้นคือ หอพระมณเฑียรธรรม สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง เคยเป็นที่บอกหนังสือพระสงฆ์ และเป็นที่แปลพระราชสาสน์ ปัจจุบันเก็บพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ ประดิษฐานไว้ในตู้ลายรดน้ำและตู้ประดับมุก”

จากนั้นพานักท่องเที่ยวเดินต่อไปยังหน้าปราสาทพระเทพบิดร

๘. ปราสาทพระเทพบิดร
“ปราสาทพระเทพบิดรเป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์เป็นนภศูลมีมงกุฎ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เดิมทรงพระราชดำริจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระราชทานนามว่าพระพุทธปรางค์ปราสาท แต่เมื่อสร้างขึ้นแล้วเห็นว่าเล็ก คับแคบ ไม่พอที่จะกระทำการพระราชพิธีต่าง ๆ จึงมิได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานดังพระราชดำริ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้บูรณะตกแต่งภายในและใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อของอดีตกษัตริย์ในราชวงจักรี พระราชทานนามว่า “ปราสาทพระเทพบิดร”ทั้งมีพระบรมราชโองการให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราช เป็นประจำทุกปีในวันที่ ๖ เมษายน ซึ่งทรงกำหนดให้เป็นวันจักรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน”

บนฐานไพทีด้านหน้าและรอบ ๆ ปราสาทพระเทพบิดร จะมีรูปหล่อโลหะเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ สร้างเป็นคู่ ๆ รวม ๗ คู่ มีชื่อต่าง ๆ ดังนี้

๑) อสูรวายุภักษ์ กายท่อนบนเป็นยักษ์ สวมมงกุฎ ท่อนล่างเป็นนก สองมือกุมกระบองเกลียว ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
๒) อัปสรสีห์ กายท่อนบนเป็นนางอัปสร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ ยืนพนมมือ ตั้งอยู่เชิงบันไดกลาง ลานด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร (นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพคู่กับสัตว์หิมพานต์คู่นี้ ในท่ายืนพนมมือเลียนแบบ ถือเป็นสิ่งแปลกและงดงาม)
๓) สิงหพานร กายท่อนบนเป็นพระยาวานร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ สองมือถือกระบองตั้งอยู่ที่บันไดลานทักษิณด้านตะวันตก
๔) กินนร กายท่อนบนเป็นมนุษย์เพศชาย ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว มือหนึ่งยกระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
๕) เทพปักษี กายเป็นเทวดา มีปีกและหางอย่างนก มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ อีกข้างหนึ่งจับระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
๖) เทพนรสิงห์ กายท่อนบนเป็นเทวดา ท่อนล่างเป็นราชสีห์ มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งถือกิ่งไม้ชูระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
๗) อสูรปักษี กายท่อนบนเป็นยักษ์ สวมมงกุฎ ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งผายออกด้านข้าง

รูปสัตว์หิมพานต์ทั้ง ๗ คู่นี้ หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕
เจดีย์ทอง ๒ องค์ หน้าปราสาทพระเทพบิดร มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้
“เจดีย์ทอง ๒ องค์นี้คือ สุวรรณเจดีย์ หุ้มทองแดงทั้งองค์ ปิดทองคำเปลว สร้างในรัชกาลที่ ๑ ทรงอุทิศเป็นพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี ที่ฐานประดับด้วยมารแบกและกระบี่แบก องค์ละ ๒๐ คน”

จากหน้าปราสาทพระเทพบิดร จะมองเห็นพระปรางค์ ๘ องค์ นั่นคือ พระอัษฎามหาเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นอุทิศถวายแด่ผู้ทรงภูมิธรรมทั้ง ๘

๙. พระอัษฎามหาเจดีย์
“จากที่นี่(หน้าปราสาทพระเทพบิดร) เราจะมองเห็นพระอัษฎามหาเจดีย์หรือพระปรางค์ ๘ องค์ ตั้งเรียงกันเป็นแถว จากเหนือไปใต้ สันนิษฐานว่าสร้างในรัชกาลที่ ๑ แต่ละองค์มีสีต่างกัน มีความหมายดังนี้

๑) องค์สีขาว พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้า
๒) องค์สีขาบ พระสัทธรรมปริยัติวรมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระธรรม
๓) องค์สีชมพู พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระสงฆ์
๔) องค์สีเขียว พระอริยสาวกาภิกษุณีสังฆมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระภิกษุณี(ปัจจุบัน ไม่มีพระภิกษุณีแล้วในประเทศไทย)
๕) องค์สีม่วง พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระปัจเจกโพธิ
๖) องค์สีน้ำเงิน บรมจักวรรดิราชา อุทิศถวายแด่พระมหาจักรพรรดิ
๗) องค์สีแดง พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์
๘) องค์สีเหลือง พระศรีอริยเมตตะมหาเจดีย์ อุทิศถวายแด่พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย ผู้จะลงมาตรัสรู้ในอนาคต”

จากนั้นพานักท่องเที่ยวเดินลงจากฐานไพทีทางบันไดด้านขวามือของปราสาทพระเทพบิดร เพื่อนำไปชมพระอุโบสถ

๑๐. พระอุโบสถ

“พระอุโบสถองค์นี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต”
“ผนังด้านนอกเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ปูนปั้น ปิดทองประดับกระจก (แล้วชี้ไปที่รูปครุฑยุดนาคตรงฐานพระอุโบสถ) หน้ากระดานฐานปัทม์ประดับด้วยครุฑยุดนาคหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองเรียงรายโดยรอบ รวม ๑๑๒ ตัว”
“(ตรงบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ) รูปสิงห์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ยืนแท่นประจำบันไดเหล่านี้ เชื่อกันว่าได้แบบมาจากกัมพูชาในสมัยรัชกาลที่ ๑“

เมื่อขึ้นไปถึงหน้ามุขพระอุโบสถ อธิบายถึงบานประตูประดับมุก
“บานประตูประดับมุก เป็นศิลปะการประดับมุกที่งดงามมากชนิดหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ จะสังเกตเห็นรูปเทพจีนทรงบนหลังสิงห์ที่บานประตู เป็นสัญลักษณ์การผสมผสานศิลปะไทย-จีนเข้าด้วยกัน”

อธิบายถึงพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร)
“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปสลักจากแก้วมณีสีเขียว (หรือหยก) ทั้งก้อน หน้าตักกว้าง ๔๘.๒ เซนติเมตร และสูงทั้งฐาน ๖๖ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปรางสมาธิ”
“จากลักษณะขององค์พระ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างเชียงแสน ซึ่งแสดงได้งดงามไม่มีที่ติ”

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ โดยโปรดให้ประดิษฐานไว้ในบุษบกสลักด้วยไม้หุ้มทองคำ”

“พระแก้วมรกตมีเครื่องทรง ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาเปลี่ยนเครื่องด้วยพระองค์เองทุกปี ในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๔ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ตามลำดับ”

อธิบายถึงภาพฝาผนังในพระอุโบสถ (ต้องอธิบาย ณ ภายนอกถ้าทำได้ เนื่องจากภายในพระอุโบสถต้องการความสงบ)

“ผนังด้านในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมทั้ง ๔ ด้าน ผนังหุ้มกลองด้านหน้าเป็นภาพมารผจญ ด้านหลังเป็นภาพไตรภูมิ ส่วนภาพด้านหลังยังเป็นภาพเรื่องปฐมสมโพธิ ขบวนพยุหยาตราสถลมารคและชลมารค”
ต่อจากนั้น ให้เวลานักท่องเที่ยวเข้าไปภายในพระอุโบสถ เพื่อเยี่ยมชมหรือนมัสการสิ่งศักดิ์ภายในพระอุโบสถ แล้วจากนั้นพากลับออกจากพระอุโบสถ พาเดินออกจากกำแพงแก้วเพื่อชมซุ้มใบเสมาและศาลาราย(ภายในพระอุโบสถห้ามถ่ายภาพ และเมื่อนักท่องเที่ยวเรื่องการห้ามสวมหมวกภายในพระอุโบสถด้วย)

๑๑. ใบเสมา
“ตรงมุมกำแพงแก้ว จะมีใบเสมาตั้งอยู่ เพื่อกำหนดเขตพัทธสีมา วัดหลวงจะเป็นใบเสมาคู่ ส่วนวัดราษฎร์จะเป็นใบเสมาเดี่ยว”

๑๒. ศาลาราย
“รอบพระอุโบสถ มีศาลาราย ๑๒ หลัง ตั้งเรียงรายอยู่นอกกำแพงแก้ว ใช้เป็นที่พักผ่อนของผู้มาทำบุญ และเป็นที่นั่งฟังธรรมในวันธรรมสวนะด้วย”
พานักท่องเที่ยวเดินชมต่อไป อ้อมไปทางด้านหน้าพระอุโบสถ จะพบหอพระคันธารราษฎร์

๑๓. หอพระคันธารราษฎร์
“หอพระคันธารราษฎร์ ภายในประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางขอฝนตามคติไทยโบราณเชื่อกันว่าสมารถอำนวยพรให้ฝนตกได้”
พานักท่องเที่ยวเดินอ้อมต่อไปทางด้านขวาพระอุโบสถ พ่อชมหอระฆัง

๑๔. หอระฆัง
“หอระฆังหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ประดับด้วยกระเบื้องเครือบสีงดงามระฆังบนหอนี้ได้มาจากวัดระฆังโฆษิตาราม ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวกันว่ามีเสียงกังวานไพเราะมาก และจะย่ำระฆังนี้เฉพาะแต่ในโอกาสสำคัญ ๆ เท่านั้น”
ถึงจุดนี้ก็เป็นอันสิ้นสุดการนำชมวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ให้นำนักท่องเที่ยวเดินเลี้ยวออกทางประตูด้านซ้ายมือ เพื่อออกไปชมพระที่นั่งต่าง ๆ ในเขตพระราชฐานชั้นกลางต่อไป

๑๕. พระที่นั่งบรมพิมาน
“ขณะนี้เรากำลังอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง พระที่นั่งที่อยู่ในเขตพระที่นั่งชั้นในที่แลเห็นหลังคาเป็นรูปโค้งนั้น คือพระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ด้วยรูปทรงตะวันตก คือ สร้างเป็นยอดโดม เมื่อเป็นที่ประทับขององค์รัชทายาท ปัจจุบันนี้ใช้เป็นที่พำนักของพระราชอาคันตุกะจากประเทศต่าง ๆ”
นำนักท่องเที่ยวเดินชมต่อไปทางขวา ไปยังพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย

๑๖. พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
“พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยองค์นี้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘“

พานักท่องเที่ยวเข้าชมภายในพระที่นั่ง

“พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชกาลมาแต่เดิม บางคราวใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศล ปัจจุบันเป็นที่เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีสำคัญเช่นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นต้น”

“มีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ ๒ องค์ คือ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ซึ่งมีรูปทรงคล้ายเรือ ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในพิธีสำคัญทางศาสนา และพระแท่นราชบัลลังก์เศวตฉัตร ประกออบด้วยพระเศวตฉัตร ๙ ชั้น สีขาวสะอาด”

“ในรัชกาลที่ ๒ เคยเสด็จออกรับจอห์น ครอว์ฟอร์ด และในราชกาลที่ ๔ ก็ได้เสด็จออกรับ เซอร์ จอห์น บาวริง ราชทูตจากประเทศอังกฤษ ในพระที่นั่งองค์นี้”

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ อยู่ด้านหลังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
“พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “พระสยามเทวาธิราช” ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าปกป้องคุ้มครอองชาติไทย หล่อขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นในพระที่นั่งไพศาลทักษิณนั้น”
นำนักท่อองเที่ยวออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางประตูด้านซ้ายของพระที่นั่งฯ จะพบพระที่นั่งนามจันทร์ซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับที่แกะสลักด้วยไม้ทั้งองค์ ใช้สำหรับพักผ่อนเสด็จประทับพระสำราญในรัชกาลที่ ๒ (นักท่องเที่ยวอาจผ่านเลยไปโดยไม่แวะหยุดชม) ออกจากประตูกำแพงรอบพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว เลี้ยวขวาจะพบพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์

๑๗. พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์
“พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์นี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ใช้เป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงพระคชาธาร (เกยประทับอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่ง) หรือทรงพระราชยานเสด็จฯในกระบวนพยุหยาตรา(เกยประทับอยู่ด้านทิศเหนือของพระที่นั่ง)”

ต่อจากนี้นำนักท่องเที่ยวเดินเลาะไปตามถนน เลี้ยวซ้ายไปหยุดถ่ายภาพหน้าพระที่นั่งจักรมหาปราสาท

๑๘. พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
“พระที่นั่งจักรมหาปราสาท เป็นที่นั่งซึ่งรัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้สร้างขึ้น ภายหลังเสด็จกลับจากประพาสสิงคโปร์และเกาะชวา พ.ศ. ๒๔๑๘ แต่เดิมจะสร้างเป็นยอดโดม ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้กราบบังคมทูลว่าขอให้ทำยอดเป็นปราสาท จากนั้นพระที่นั่งองค์นี้จึงมีสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสม คือองค์พระที่นั่งเป็นแบบสถาปตยกรรมยุโรปสมัยสมเด็จพระบรมมหาราชินีนาถวิคตอเรียของอังกฤษแต่หลังคาสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยเป็นแบบยอดปราสาท ๓ ยอด เรียงกันจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๙–๒๔๒๕“

“ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีอยู่บนชั้นกลางของพระที่นั่งองค์กลาง เป็นที่เสด็จพระราชดำเนินออกให้คณะทูตานุทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ตราตั้งเป็นราชทูตประจำราชสำนัก บางครั้งโปรดฯ ให้จัดเป็นที่พระราชทานเลี้ยงรับรองราชอาคันตุกะสำคัญ ๆ

หลังจากนักท่องเที่ยวถ่ายภาพพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเรียบร้อยแล้ว ให้นำนักท่องเที่ยวตรงไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งจะพบพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทอยู่ใกล้ประตูทางเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

๑๙. พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท
“พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท องค์นี้เป็นปราสาทไม้ทั้งหลัง รัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพลับพลาสำหรับประทับทรงพระราชยานรับส่งเสด็จเมื่อเสด็จพระราชดำเนินโยกระบวนพยุหยาตรา”

“พระทั่น่งที่สร้างโดยถือเอาพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทองค์นี้เป็นแบบยังมีอีกแห่งหนึ่ง คือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ กลางสระน้ำในพระราชวังบางปะอิน และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ กรมศิลปากร ได้จำลองแบบไปจัดสร้างเป็น “ศาลาไทย” ในงานมหกรรมนานาชาติที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ปรากฏว่าเป็นที่นิยมแก่ผู้ไปชมงานเป็นอย่างมาก”
ข้างหลังพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทคือพระที่นั่งราชกรัณยสภา

๒๐. พระที่นั่งราชกรัณยสภา
“พระที่นั่งราชกรัณยสภา คือพระที่นั่งองค์ถัดไป รัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน”

จากนั้นพานักท่องเที่ยวผ่านประตูกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเข้าไปด้านใน (เมื่ออยู่ตรงด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หากแนะนำให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทโดยให้เห็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทโดยให้เห็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่ด้านหลัง จะได้ภาพที่งดงามมาก)

๒๑. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
“พระที่นั่งพระองค์นี้คือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังหลวงได้ถ่ายแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทที่กรุงศรีอยุธยามาสร้าง พระที่นั่งองค์นี้มีความสำคัญที่เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ และใช้ในพระราชพิธีการพระราชกุศลต่าง ๆ พระราชพิธีที่สำคัญ คือ พระราชพิธีฉัตรมงคล”

บรรยายถึงตรงนี้ให้เชิญนักท่องเที่ยวเข้าไปชมภายในพระที่นั่งฯ ตามอัธยาศัย บางคนอาจจะอยากนั่งพักที่ทิมศาลาหน้าพระที่นั่งฯ ก็ให้พักผ่อนได้ตามใจสมัคร

เมื่อนำนักท่องเที่ยวกลับออกมาจากพระที่นั่งฯ พร้อมแล้วให้เดินย้อนกลับมาจากพระที่นั่งฯ ตามทางเดิม แล้วเลี้ยวซ้ายออกไปตามถนนใหญ่ ผ่านประตูพิมานไชยศรีออกไปสู่เขตพระราชฐานชั้นนอก(ก่อนถึงประตูพิมานไชยศรีนี้ จะมีห้องถ่ายภาพโปร่งแสง (สไลด์) พระราชกรณียกิจให้ชมโดยทางสำนักพระราชวังมิได้เก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น หากนักท่องเที่ยวมีเวลา ควรแนะนำให้นักท่องเที่ยวแวะชมด้วย ซึ่งจะมีการจัดฉายเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งวัน)

เมื่อออกมายืนที่ปากประตูพิมานไชยศรีชั้นนอกแล้ว หากหันกลับมามองผ่านประตูเข้าไปใหม่จะเห็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทงดงามมากโดยมีขอบประตูพิมานไชยศรีเป็นกรอบเน้นภาพ เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก่อนที่จะเดินทางไปขึ้นยานพาหนะ เดินทางกลับออกจากพระราชวังหลวงเพื่อไปแวะชมแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น