จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ภูมิปัญญาล้านนา

โดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในบทที่4ภูมิปัญญาล้านนา เอกสารประกอบการสอนวิชาGE107 ภูมิปัญญาไทย หมวดวิชาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ.2545 (จำนวน1,000 เล่ม) ตีพิมพ์ครั้งที่2=3 พ.ศ.2546และ2547)ตามลำดับ ภาพลายเส้นประกอบบทความส่วนหนึ่งอ้างอิงจากเอกววิทย์ ณ ถลาง, ภูมิปัญญาล้านนา, กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2544. ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง)
กล่าวนำ
“ล้านนา” เป็นคำเรียกกลุ่มบ้านเมืองที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ศูนย์กลางของล้านนาคือ เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หรือ เมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ เอกสารจีนเรียกล้านนาว่า อาณาจักรปาไป่สีฟู (Pa-Pai-Hsi-Fu) และระบุว่าอาณาจักรปาไป่สีฟูมีอาณาเขตทางทิศเหนือจรดแคว้นเชอหลี่หรือสิบสองปันนา ทิศตะวันออกจรดแม่น้ำโขง ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำสาละวิน และทิศใต้จรดเมืองสวรรคโลก คำว่า “ล้านนา” ปรากฏอยู่ในหลักฐานประวัติศาสตร์หลายชิ้น ได้แก่

Ø จารึกวัดเชียงสา (จังหวัดเชียงราย) พ.ศ.๒๐๙๖ เรียกดินแดนนี้ว่า ล้านนา
Ø ตำนานพระยาเจื๋อง เรียก เมืองเงินยางเขตตทสลขราชธานี (เขตตทสลข แปลว่า สิบแสนนา หรือ ล้านนา)
Ø พงศาวดารโยนก และ โคลงมังทราตีเชียงใหม่ เรียกว่า ล้านนา
Ø โคลงนิราศหริภุญไชย ก็ปรากฏคำว่า ปิ่นทศลักษณ์ เลิศหล้า และ/หรือ จอมจันทศรักเลิศหล้า ซึ่งหมายถึง ล้านนา เช่นกัน

นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม เจ้านครเชียงใหม่ อิงกับชื่อแคว้นล้านนาแต่โบราณว่า “เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ดำรงนพีสีนครสุนทรทศลักษณ์เกษตร”

ชาวล้านนาเรียกตัวเองว่า คนเมือง เรียกภาษาพูดว่า คำเมือง แต่บางครั้งนักวิชาการก็เรียกชาวล้านนาว่า คนไทโยนก หรือ ไตยวน เป็นต้น

กลุ่มชนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชาวล้านนา นอกจากชาวไทยวนแล้วยังจำแนกเป็นชาวไตใหญ่(ไทใหญ่หรือชาวเงี้ยว) ไตลื้อ ไตเขิน ไตยอง ลาว และชนเผ่าอื่นๆด้วย ได้แก่ ข่า(ขมุ) ลัวะ ยาง(กะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง) ฯลฯ (สุรพล ดำริห์กุล, ๒๕๓๙ : ๕๒ และ เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๕๖)

ภูมิปัญญาล้านนา (Lanna Folk Wisdom) เป็นพัฒนาการของการปรับตัวและปรับวิถีชีวิตของคนไทยวนและชาวล้านนากลุ่มต่างๆให้ผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ แล้วถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวล้านนาจึงคล้ายคลึงกับกลุ่มชนที่อาศัยในบริเวณติดต่อกับบางส่วนของประเทศเมียนม่าร์(พม่า) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและจีน-ตอนใต้ (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๒๑-๒๕) ทั้งเรื่องความเชื่อของแผนจารีต ประเพณี พิธีกรรม การดำรงชีวิต อาหารการกิน บ้านเรือน การแพทย์พื้นบ้าน ศิลปกรรม ดนตรี การละเล่น ประดิษฐกรรม และอื่นๆ

การเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวล้านนาให้เกิดทัศนคติที่ดี จึงอาจเริ่มต้นจากการศึกษาที่ตั้ง สภาพภูมิประเทศ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประชากร ความเชื่อ พิธีกรรม การทอผ้าพื้นเมือง การชลประทานโครงสร้างของชุมชน เทคโนโลยีพื้นบ้านและการรักษาโรค ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

๑. ลักษณะภูมิประเทศและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ดินแดนล้านนามีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนวางแนวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ระหว่างเทือกเขามีที่ราบอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านหลายสายคือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำกก แม่น้ำอิงและแม่น้ำลาว
ล้านนาจึงเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วพัฒนาเป็นบ้านเมืองกระจายอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ แต่ละเมืองมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติและมีเมืองขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง ได้แก่

· แคว้นหริภุญชัย(หริภุญไชย) อยู่ในเขตจังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง มีแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังไหลผ่าน โดยแม่น้ำปิงไหลผ่านเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน แม่น้ำวังไหลผ่านเมืองเขลางค์นครหรือเมืองลำปาง แคว้นหริภุญชัยก่อตั้งเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔
· แคว้นโยนก ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย มีแม่น้ำกก แม่น้ำลาว แม่น้ำสายและแม่น้ำโขงไหลผ่าน มีที่ราบลุ่มค่อนข้างกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ จึงเกิดชุมชนระดับเมืองจำนวนมากก่อตัวอยู่ริมน้ำ และมีตำนานเล่าขานสืบมา เช่น ตำนานสุวรรณโคมคำ และตำนานสิงหนวัติกุมาร เป็นต้น แคว้นโยนกมีอายุอยู่ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙
· แคว้นพะเยา ตั้งอยู่บริเวณริมกว๊านพะเยาในเขตจังหวัดพะเยา มีแม่น้ำอิงไหลผ่านเชิงเขาซึ่งทอดยาวเป็นแนวเหนือใต้ บรรพบุรุษของชาวพะเยาสืบเชื้อสายจาก วงศ์ลวจัก-ราช วีรบุรุษสำคัญของแคว้นพะเยาคือ ขุนเจื๋อง ผู้สามารถปราบปรามเมืองต่างๆในแถบภาคเหนือตอนบน แคว้นพะเยามีอายุร่วมสมัยกับแคว้นสุโขทัย
· แคว้นน่าน ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดน่าน มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ศูนย์กลางของแคว้นน่านอยู่ที่เมืองปัวหรือพลั่ว เรียกอีกอย่างชื่อว่า วรนคร แคว้นน่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นหลวงพระบางและแคว้นสุโขทัย สินค้าสำคัญของแคว้นน่านคือเกลือสินเธาว์ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แคว้นน่าตกเป็นประเทศราชของแคว้นพะเยาช่วงสั้นๆ ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๑๑ จึงย้ายศูนย์กลางจากเดิมมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน และถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑

แคว้นล้านนาก่อตัวเป็นอาณาจักรล้านนา เมื่อพระยามังราย(พระเจ้ามังราย) โอรสของพระยาลาวเม็งแห่งวงศ์ลวจักราชเสด็จจากเมืองหิรัญนครเงินยาง มาสร้างเมืองเชียงรายเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๕ จากนั้นจึงเสด็จลงไปยึดแคว้นหริภุญชัยเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ (สันติ เล็กสุขุม, ๒๕๔๔ : ๑๒๐) แล้วไปสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ และในปีพ.ศ. ๑๘๘๑ เชียงใหม่ก็ปราบแคว้นพะเยาไว้ในอำนาจได้ นับแต่นั้นเชียงใหม่จึงกลายเป็นศูนย์กลางของล้านนาอย่างแท้จริง (สุรพล ดำริห์กุล, ๒๕๓๙ : ๘-๓๓)

๒. คติความเชื่อ
๒.๑ ความเชื่อดั้งเดิม
ความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา จำแนกเป็นความเชื่อเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษยชาติ ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจของธรรมชาติที่บันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี ความเชื่อเกี่ยวกับผู้มีบุญหรือผีบุญหรือวีรบุรุษผู้ปลดปล่อย และความเชื่อเกี่ยวกับขวัญ เป็นต้น
ความเชื่อข้างต้นชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวล้านนากับธรรมชาติ ชาวล้านนากับสิ่งเหนือธรรมชาติ และชาวล้านนากับสังคม อันเป็นความสืบเนื่องทางจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่มนุษย์นับถือผีและวิญญาณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมนุษย์เชื่อว่าการเซ่นไหว้บูชาทำให้ผีและวิญญาณพอใจ และบันดาลความสุขในการดำรงชีวิตให้แก่มนุษย์ ส่งผลให้ชาวล้านนาใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ถ้ามีการละเมิดความเชื่อก็ต้องทำพิธีขอขมา เพื่อมิให้เกิดภัยพิบัติขึ้น (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ก : ๗๓)
เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับกำเนิดของมนุษย์นั้น นิทานพื้นบ้านล้านนากล่าวว่า ข่ากะเหรี่ยง และไทเกิดจากน้ำเต้า มีมนุษย์คู่แรกคือ ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี (ปู่แสงสี ย่าแสงไส้) ส่วนพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระอินทร์ หรือ พญาแถน เป็นผู้ส่ง ลวจกเทวบุตร มาสร้าง ราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองล้านนา

ชาวล้านนาเชื่อในอำนาจของธรรมชาติที่จะดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ จึงมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น การแห่พระเจ้าฝนแสนห่า การฟังธรรมคาถาปลาช่อน การขอฝน ฯลฯ เช่นเดียวกับชาวไทยในภาคอีสานและภาคกลาง ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานการค้นพบกลองมโหระทึกสำริด ประดับด้วยสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดฝน เช่น กบ เป็นต้น ความเกรงกลัวต่ออำนาจและความลี้ลับของธรรมชาติทำให้ชาวล้านนาเชื่อว่าธรรมชาติมีอำนาจประดุจเทพยดาซึ่งจะต้องมีการเซ่นสรวงบวงพลี

ชาวล้านนาเชื่อว่าผีเป็นตัวแทนอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ ความเชื่อนี้เป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนเชื้อสายไท ผีที่ชาวล้านนานับถือคือ
- ผีฝ่ายดี ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า(แถนหรือเทวดา) ผีเสื้อเมือง(ผีอดีตเจ้าแผ่นดินหรือชนชั้นผู้ปกครองเมือง) ผีอารักษ์ ผีด้ำ(ผีต้นตระกูล) ผีนา(แม่ขวัญข้าวหรือแม่โพสพ) ผีดิน(แม่ธรณี) ผีขุนน้ำ(แม่คงคา) ผีเหมืองฝาย ผีเจ้าถ้ำ ผีเจ้าเขา ฯลฯ
- ผีฝ่ายร้าย ได้แก่ ผีตายโหง ผีกะ(ปอป) ผีพราย ผีป่า(นางไม้) ผีกระสือ ผีโป่ง ผีก้องกอย(กองกอย) ผียำ ฯลฯ
- ผีประจำภาชนะ ได้แก่ ผีนางโด้ง ผีหม้อนึ่ง ฯลฯ

การนับถือผีเป็นการตอกย้ำความเชื่อเรื่องการเคารพธรรมชาติ บรรพบุรุษและคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองล้านนา
นอกจากความเชื่อเรื่องกำเนิดมนุษย์ เรื่องอำนาจของธรรมชาติและความเชื่อเรื่องผีแล้ว ความเชื่อเรื่องผู้มีบุญหรือผีบุญหรือวีรบุรุษผู้ปลดปล่อยของชาวล้านนา เป็นแนวความคิดที่เกิดจากความหวังจะได้พบผู้นำหรือวีรบุรุษ ที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากหรือการถูกกดขี่ทางสังคมและการเมือง

หากผีบุญหรือวีรบุรุษมีคุณสมบัติในเชิงสงคราม ชาวบ้านจะยกย่องว่าเป็น คนข่าม(ผู้อยู่ยงคงกระพัน) หากเชี่ยวชาญด้านคาถาอาคมและรักษาโรคได้ด้วยก็ยกย่องเป็น ผู้วิเศษ และหากวีรบุรุษคนใดผ่านเหตุการณ์เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผู้มีบุญหรือผีบุญในโอกาสที่เหมาะสมหรือในช่วงวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญๆมาแล้ว ก็ได้รับการยกย่องเป็น ตนบุญ ผู้มีบุญหรือวีรบุรุษที่ได้การยกย่องสูงสุดคือ พญาเจืองหรือขุนเจื๋อง (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๕๗-๖๘) ส่วนความเชื่อเรื่องขวัญของชาวล้านนาจะกล่าวต่อไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพีธีกรรม

๒.๒ ความเชื่อทางศาสนา
ชาวล้านนานับถือศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์เป็นศาสนาหลัก ตั้งแต่ในระยะที่พระยามังรายขยายอำนาจมายังแคว้นหริภุญชัยแล้วเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ดังนั้นนอกจากจะส่งเสริมและอุปถัมภ์ศาสนาพุทธจากแคว้นหริภุญชัยแล้ว พระยามังรายยังทรงยอมรับวัฒนธรรมทางศิลปะเนื่องในศาสนาพุทธที่แพร่เข้ามาจากแคว้นหงสาวดีและแคว้นอังวะด้วย เห็นได้จากการที่พระยามังรายโปรดฯให้สร้างวัดกานโถม(เชียงใหม่) ให้คล้ายกับวัดที่เมืองหงสาวดี

เมื่อพระยามังรายเสด็จไปยังแคว้นอังวะ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บันทึกว่า “...เรารู้ว่าศาสนาพระพุทธเจ้ารุ่งเรืองมากนัก เราจึงสร้างมาแอ่วดูประเทศบ้านเมืองพุกามอังวะ...” (คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดี, ๒๕๑๔ : ๒๔-๒๕)

ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พระเจ้ากือนาได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเผยแผ่ศาสนา พระสุมนเถระจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานลัทธิลังกาวงศ์ในดินแดนล้านนาอีกครั้ง พระเจ้ากือนาโปรดให้พระภิกษุจากเมืองเชียงแสน เชียงตุง และเมืองอื่นๆ เดินทางมาศึกษาพระศาสนาที่วัดสวนดอก ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยล้านนาแทนเมืองหริภุญชัย

ในปีพ.ศ. ๑๙๖๗ รัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน พระภิกษุจากเชียงใหม่ ลพบุรีและรามัญได้อาราธนาพระเถระชาวสิงหลจากลังกามาเผยแพร่ศาสนาที่วัดป่าแดง เมืองเชียงใหม่ ทำให้ศาสนาพุทธในล้านนาประกอบด้วย นิกายหินยานแบบลังกาวงศ์สายหริภุญชัย นิกายหินยานแบบลังกาวงศ์สายรามัญ และนิกายหินยานแบบลังกาวงศ์สายสิงหล (สุรพล ดำริห์กุล, ๒๕๓๙ : ๔๑)

ครั้นพระเจ้าติโลกราชเสวยราชย์ในปีในปีพ.ศ. ๑๙๘๔ ล้านนาได้ขยายอาณาเขตครอบคลุมรัฐฉาน (เมืองไลคา เมืองนาย เมืองสีป้อ เมืองยองห้วย ฯลฯ) และแคว้นเชียงรุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พระเจ้าติโลกราชทรงยึดแคว้นน่านและแพร่ทำให้ดินแดนล้านนามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่บัดนั้น
รัชสมัยพระเจ้าติโลกราชพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๘ ของโลก ที่วัดโพธารามมหาวิหารหรือวัดเจ็ดยอด

รัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว (พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๔) มีวรรณกรรมทางพุทธศาสนาหลายชิ้น ผลงานสำคัญคือหนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ เล่าเรื่องประวัติพุทธศาสนาในล้านนาแต่งโดยพระภิกษุรัตนปัญญาเถระแห่งเมืองเชียงใหม่

หลังรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว ล้านนาประสบปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในรัชสมัยพระเจ้าเมกุฏิ จึงตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าบุเรงนองแห่งอาณาจักรพม่าในปีพ.ศ. ๒๑๐๑ ทำให้บ้านเมืองทรุดโทรมและพระพุทธศาสนาในล้านนาขาดการทำนุบำรุง

ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖-๒๓๑๔ พม่าได้เข้ามายึดครองล้านนาอีกครั้งหนึ่ง พระยาจ่าบ้านบุญมา ขุนนางแห่งเมืองเชียงใหม่ และพระยากาวิละเชื้อสายเจ้าฟ้าเมืองลำปาง ได้ขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระเจ้าตากสินขับไล่พม่าออกไปจากล้านนา แต่ดินแดนล้านนาหลายเมืองมีสภาพรกร้างจากภัยสงคราม จนถึงปี พ.ศ.๒๓๔๔ จึงสามารถฟื้นฟูบ้านเมืองและพุทธศาสนาได้อีกครั้ง เมื่อพระยากาวิละซึ่งได้รับการราชาภิเษกเป็นเจ้าประเทศราชแห่งนครเชียงใหม่ ส่วนเมืองอื่นๆของล้านก็มีเจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๔๒ จึงมีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลสยาม (สุรพล ดำริห์กุล, ๒๕๓๙ : ๕๗-๖๒)

แม้ชาวล้านนาจะนับถือพุทธศาสนาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็มิได้ทอดทิ้งความเชื่อเรื่องผีและอำนาจธรรมชาติ ทำให้ความเชื่อทางศาสนาพุทธ ผีและอำนาจธรรมชาติ ผสมผสานกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเจือปนมากับพุทธศาสนา ผ่านจารีตทางการเมืองและการปกครองอย่างกลมกลืน วิถีชีวิตของชาวล้านนาจึงผูกพันอยู่กับการทำบุญตามวันสำคัญทางศาสนา การบนบานศาลกล่าวและการเซ่นไหว้บูชาผีต่างๆตามโอกาสสำคัญ การพึ่งพาผู้รู้ทางโหราศาสตร์ การสร้างรูปเคารพของบุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสวัสดิมงคลในชีวิต (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ก : ๗๐-๗๙) ความเชื่อของชาวล้านนาดังกล่าวข้างต้นนี้คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมชาวไทในรัฐสิบสองปันนา (จีน) ภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สิบสองจุไท (เวียดนาม) รัฐฉาน (พม่า) ภาคกลางตอนบนและภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย

๒.๓ พิธีกรรม : ความผูกพันทางวัฒนธรรมที่บ่งชี้เอกลักษณ์ชาวเหนือ
ชาวล้านนามีความผูกพันกับพิธีกรรมเนื่องในศาสนาพุทธตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ได้แก่
-พิธีในครอบครัว เช่น การทำขวัญเดือน การขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลสมรส ฯลฯ
-พิธีเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา
วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ฯลฯ
-พิธีเนื่องในวันนักขัตฤกษ์และเทศกาลงานประเพณี เช่น วันตรุษสงกรานต์ วันลอยกระทง ฯลฯ
ขณะเดียวกันพื้นฐานการทำเกษตรกรรมในที่ราบลุ่มริมน้ำ ก็ทำให้วัฒนธรรมของชาวล้านนามีลักษณะเป็น วัฒนธรรมข้าว เช่นเดียวกับคนไทยในภูมิภาคอื่น ลักษณะของการดำเนินชีวิตในวัฒนธรรมข้าวคือ การมีวิถีความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม การผลิต การบริโภค รวมถึงการสร้างสรรค์ระบบชลประทานหรือการทำเหมืองฝายเกี่ยวโยงกับกิจกรรมการผลิตข้าว

ดังนั้นเมื่อชาวล้านนาเชื่อว่าทั้งคน พืช สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติทั้งหลายต่างก็มีขวัญด้วยกันทั้งสิ้น ชาวล้านนาจึงผูกพันกับ พิธีการทำขวัญ ในแทบทุกเรื่อง ชาวล้านนาเชื่อว่าขวัญเป็นพลังชีวิตและเป็นศูนย์รวมแห่งพลังใจของคน จึงมีพิธีการทำขวัญข้าว การทำขวัญบ้าน การทำขวัญเมือง การทำขวัญสืบชะตาชีวิต สืบชะตาคน สืบชะตาต้นไม้หรือสืบชะตาแม่น้ำ เป็นต้น การทำขวัญที่สำคัญยิ่งคือ พิธีฮ้องขวัญเชิญขวัญ
การฮ้องขวัญเชิญขวัญเป็นการผูกขวัญในโอกาสมงคลต่างๆ ได้แก่ การทำขวัญฉลองความสำเร็จของชีวิต การทำขวัญเพื่อให้เกิดความสามัคคี การทำขวัญเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ การทำขวัญเพื่อให้เกียรติแก้ผู้มาเยือนหรือผู้เดินทางจากไปต่างถิ่น ผู้เจ็บป่วย ผู้อาวุโส คู่สมรส ผู้เตรียมบวช (นาค) หรือสัตว์เลี้ยง (เช่น ช้าง ม้า วัว ควายซึ่งเป็นสัตว์มีคุณต่อมนุษย์) หรือทำขวัญเหมืองฝาย เป็นต้น พิธีฮ้องขวัญเชิญขวัญเป็นตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องผี เข้ากับศาสนาพุทธและพราหมณ์ได้เป็นอย่างดี

การตัดไม้ทำลายป่าในช่วง ๑๐๐ ปีเศษที่ผ่านมา ทำให้ป่าไม้ในเขตภาคเหนือลดน้อยลงไปเป็นอันมาก ความผูกพันที่มีต่อธรรมชาติทำให้ปัญญาชาวล้านนาผลักดันการอนุรักษ์ป่าไม้ ป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรมล้านนา

รูปแบบของการอนุรักษ์ดังกล่าวได้แก่ พิธีสืบชะตาขุนน้ำ การบวชป่าและบวชต้นไม้ การทอดผ้าป่าต้นไม้สู่ชุมชน ฯลฯ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมธรรมชาติเกิดความสมดุล ความสมดุลในธรรมชาติเป็นต้นกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์

ปัญญาชนล้านนาที่รวมตัวกันนี้รู้จักกันในนามกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่น ได้แก่ กองทุนชุมชนรักป่า จังหวัดเชียงใหม่ ชมรมครูเพื่อสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่ กลุ่มฮักเมืองน่าน กลุ่มเสขิยธรรม (กลุ่มพระสงฆ์ภาคเหนือ) เป็นต้น (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๐ ค : ๑๒๔-๑๒๕)

ศาสนาและพิธีกรรมของชาวล้านนาเป็นจุดผลักดันให้เกิดศิลปกรรมสกุลช่างล้านนา (เดิมเรียกว่าศิลปะเชียงแสน) อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ อันเป็นช่วงที่หมดยุคอาณาจักรล้านนาจากการตกเป็นประเทศราชของพม่า (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ๒๕๔๕ : ๕๕) ศิลปะล้านนาจึงได้รับอิทธิพลจากศิลปะหริภุญชัย ศิลปะพุกามและศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสานตามลำดับการเปลี่ยนของวัฒนธรรมทางการเมือง

๓. เทคโนโลยีพื้นบ้าน
๓.๑ ผ้าล้านนา : งานประณีตศิลป์ที่แฝงในปัจจัยสี่
ผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่นอกเหนือจากอาหาร ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค ในสมัยโบราณสังคมเกษตรกรรมทุกครัวเรือนจะทอผ้าเองเพื่อใช้ในครอบครัว โดยอาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติได้แก่ ไหมและฝ้าย และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทอผ้าให้ลูกหลานสืบทอดภูมิปัญญาเมื่อว่างจากการทำเกษตรกรรม การทอผ้าต้องอาศัยทั้งความขยัน ความอดทน ความพยายามและความประณีต ผลิตผลที่ได้นอกจากจะทำขึ้นเพื่อการใช้สอยแล้ว ยังสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกันสินค้าอย่างอื่นได้ด้วย จึงมีคำกล่าวว่า เมื่อเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก (วรรณา วุฒฑะกุลและยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา, ๒๕๓๗ : ๑๙, สุมาลย์ โทมัส, ๒๕๓๗ : ๖๓)
ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและการส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาล ทำให้ชาวชนบทสามารถซื้อผ้าทอจากโรงงานได้โดยไม่ต้องทอเอง วัฒนธรรมการทอผ้าในครอบครัวจึงสิ้นสุดลง
อัตลักษณ์ประการหนึ่งของชาวล้านนาคือ การทอผ้า ผ้าตันจก หรือ ผ้าจก หรือ ผ้ายก ซึ่งเป็นเทคนิคการทอผ้าแบบมาตรฐานมีแบบแผนสืบต่อกันไม่เปลี่ยนแปลง เทคนิคการทอผ้าตีนจกใช้วิธีการทอผ้าและปักผ้าไปพร้อมๆกัน การทอลวดลายบนผ้ามีวิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็นช่วงๆไม่ต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือใช้มือยก จากนั้นจึงทำลวดลายไหมสอดสลับสีด้าย (วรรณา วุฒฑะกุล และ ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา, ๒๕๓๗ : ๑๙-๒๐) ทำให้มีคำกล่าวว่า “ใครทอจกได้ ก็ทออย่างอื่นได้” (สุมาลย์ โทมัส, ๒๕๓๗ : ๖๓)

ช่างทอล้านนาที่มีฝีมือประณีตทางด้านการทอผ้ามักสืบเชื้อสายมาจากชาวลาว อาทิ ลาวพุงดำ (ชาวลาวกลุ่มนี้นิยมสักแบบมอมดำตั้งแต่หน้าท้องลงไปถึงหัวเข่า) ในเขตเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และตาก (สุมาลย์ โทมัส, ๒๕๓๗ : ๖๒)

แหล่งผ้าตีนจกที่มีชื่อเสียงฝีมือประณีตอยู่ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ทอโดยชาวล้านนาเชื้อสายลาวพวน ส่วนผ้าซิ่น (คือผ้านุ่ง) ที่งดงามฝีมือประณีตเป็นของชาวไทลื้อและไทยวนแถบเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ และน่าน สำหรับผ้ายกของเมืองลำพูนนั้น ในอดีตราชนุกูลแห่งเมืองลำพูนเคยนำเทคนิคงานยกดิ้นเงินดิ้นทองของล้านนาลงเผยแพร่ยังราชสำนักกรุงเทพฯด้วย

ผ้าซิ่นไทยวมักทอจากฝ้าย ลักษณะเด่นคือช่วงกลางของตัวซิ่นเป็นลายทางขวางขนาดเท่าๆกัน วิธีการเย็บเป็นถุงต่อข้างเดียวที่ส่วนเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง แต่บางแห่งอาจต่อด้วยสีขาวอีกช่วงหนึ่ง ดังตัวอย่างผ้าซิ่นไทยวนที่อำเภอแม่แจ่ม (เชียงใหม่) ตีนซิ่นมักเป็นสีดำหรือสีแดง ถ้าเป็นซิ่นที่ใส่ในโอกาสพิเศษ นิยมต่อซิ่นด้วยตีนจกที่ละเอียดงดงาม เรียกว่า จกแม่แจ่ม ผ้าซิ่นลักษณะพิเศษของไทยวนที่จังหวัดน่าน จำแนกเป็น ซิ่นดำเดิบ ใช้วิธีการทอเก็บขิด ใช้ดิ้นทองเป็นเส้นพุ่งตลอดทั้งผืน มีลวดลายขนาดเล็ก นิยมต่อตีนจกด้วยดิ้นทอง แต่บางชิ้นอาจเป็นตีนจกพื้นสีธรรมดา อีกรูปแบบหนึ่งเป็นซิ่นเชียงแสน ซึ่งทอลายขัดธรรมดาทั้งผืน แต่มีโครงสร้างของลายขวางเป็นระยะๆ ส่วนบนของตีนซิ่นใช้ฝ้ายสองสีปั่นเข้าด้วยกันเป็นเส้นพุ่ง นิยมทอพื้นเป็นสีแดง ส่วนลายขวางใช้สีต่างๆผสมผสานกัน ชาวไทลื้อเมืองน่านนิยมทำ ผ้ามัดก่าน หรือ คาดก่าน เรียกว่า ซิ่นก่าน ซึ่งก็คือเทคนิคการทอผ้ามัดหมี่นั่นเอง ผ้าซิ่นพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่านได้แก่ ซิ่นน่าน ซิ่นป้อง ซิ่นตาเหล็มและซิ่นล้วง ลักษณะเด่นของซิ่นน่าน คือ มีป้าน ทอริ้วใหญ่สลับไม่เกินสี่สี เช่น ดำ แดง ชมพู ม่วง แต่ตีนซิ่นต้องมีสีแดง และป้านใหญ่ที่ต่อจากตีนซิ่นขึ้นไปจะใช้สีน้ำเงินเข้มหรือม่วงเพียงสีเดียว แล้วคั่นด้วยริ้วไหมเงินไหมทองทอสลับกันทั้งผืน ถ้ามีขอบทองก็จะทอคั่นด้วยไหมทองหรือไหมดำ

ในจังหวัดแพร่ ชาวไทยวนนิยม ซิ่นตามะนาว ซึ่งเป็นลายขวางสีเหลืองสลับเข้ม เช่น สีดำหรือม่วง ถ้าเป็นผ้าที่พิเศษขึ้นมาก็จะต่อด้วนตีนจกแบบไทลื้อ (สุมาลย์ โทมัส, ๒๕๓๗ : ๖๖-๖๘)

๓.๒ ระบบเหมืองฝาย : ภาพสะท้อนการจัดการน้ำและระเบียบสังคม

เกษตรกรรมในภูมิประเทศที่ราบลูกฟูกระหว่างหุบเขา จำเป็นต้องอาศัยระบบชลประทานที่เหมาะในการหล่อเลี้ยงชุมชน เรือกสวนและไร่นา เนื่องจากการทำนาอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ การสร้างอ่างเก็บและการทดน้ำเข้านาเมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ชาวล้านนาเรียก อ่างเก็บน้ำ ว่า เหมืองฝาย ระบบเหมืองฝายบ่งชี้ว่า ชาวล้านนามีความชาญฉลาดในการดัดแปลงธรรมชาติให้เกิดประโยชน์มานาน เหมืองฝายจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของล้านนา เป็นที่มาของการจัดระเบียบสังคมและวัฒนธรรมล้านนาอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กษัตริย์ล้านนาแทบทุกพระองค์ทรงสร้างเหมืองฝาย เพื่อประกาศบุญญาธิการดังปรากฏชัดเจนในพงศาวดารโยนก

จากพื้นฐานที่สังคมล้านนาเกิดจากการรวมตัวของชุมชน ชาวล้านนาทุกคนจึงมีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน และมักมีการร่วมแรงร่วมใจกันทำเหมืองฝายขึ้นมากกว่าจะรอการสร้างเหมืองฝายจากชนชั้นปกครอง (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๓๕-๓๗)

การจัดการเหมืองฝายของชาวล้านนาปรากฏอยู่ในกฎหมายมังรายศาสตร์ ที่ระบุถึงการร่วมแรงในการสร้างและบำรุงรักษาเหมืองฝาย อัตราปรับไหมและบทลงโทษ เช่น การขโมยน้ำหรือทำเหมืองฝายชำรุด เป็นต้น

เหมืองฝายมักถูกสร้างบนที่สูงเชิงเขาใกล้ต้นน้ำ เริ่มจากการกั้นทำนบแล้วขุดคลองส่งน้ำหรือลำเหมืองปันน้ำสู่ไร่นาเบื้องล่าง เหมืองฝายขนาดใหญ่มักมีระบบคลองส่งน้ำสลับซับซ้อนเพื่อให้ส่งน้ำได้อย่างทั่วถึง ชาวล้านนาเรียกทำนบขนาดใหญ่ว่า ฝาย ส่วนทำนบที่กั้นน้ำเข้าสู่เหมืองขนาดเล็กใต้ฝายเรียกว่า แต แต่ละแตจะมีต่างเป็นประตูน้ำเล็กแยกน้ำจากแตเข้าสู่ไร่นา และตอนเป็นทำนบคลองย่อยขนาดเล็กที่สุด ซึ่งจ่ายน้ำเข้าสู่ไร่นาแต่ละแปลง

แก่ฝาย มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาต่างๆ ได้แก่ การบำรุงระบบเหมืองฝาย การเก็บรายชื่อผู้ใช้น้ำ การควบคุมการแจกจ่ายน้ำ การยุติข้อพิพาทอันเกิดจากการแย่งน้ำ การใช้น้ำให้เหมาะสมและการประสานกับฝ่ายปกครอง ส่วน แก่เหมือง มีหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงไร่นาให้ทั่วถึง

แก่เหมือง เป็นตำแหน่งที่ชาวบ้านเลือกจากบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นผู้มีความยุติธรรมและมีมนุษยสัมพันธ์ดี ส่วน แก่ฝาย ซึ่งมีฐานะสูงกว่าแก่เหมืองอีกชั้นหนึ่งก็เลือกบรรดาแก่เหมืองที่มีลักษณะผู้นำโดดเด่น แก่ฝายแต่ละคนจะมีลูกน้อง ๑๐-๒๐ คน

ตำแหน่งแก่ฝายและแก่เหมืองไม่มีกำหนดตายตัวว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ขึ้นอยู่กับความประพฤติของแต่ละบุคคล หากขาดคุณธรรมก็อาจถูกขอร้องให้ลาออกจากตำแหน่งได้ ค่าตอบแทนของแก่ฝายคือการยกเว้นภาษีที่ดิน ๓๐ ไร่ ส่วนแก่เหมืองได้รับการยกเว้นลดหลั่นไป แก่เหมืองจะได้รับส่วนแบ่งข้าวไร่ละ ๓ กิโลกรัม และแก่เหมืองจะแบ่งให้แก่ฝาย ๑ กิโลกรัมอีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้นอกจากแก่เหมืองและแก่ฝายจะได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้านแล้วยังได้รับการยอมรับจากฝ่ายบ้านเมืองอีกด้วย

หากเกิดการวิวาทเรื่องการใช้น้ำถึงขั้นใช้กำลังรุนแรง แก่เหมืองจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ถ้าไม่ยุติแก่ฝายก็จะเข้ามาตัดสิน ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วแก่ฝายเป็นผู้ที่มีบารมีมากกว่า หากไม่สามารถยุติปัญหาได้ก็จะถือว่าเสียศักดิ์ศรี และต้องส่งเรื่องให้บ้านเมืองเป็นฝ่ายตัดสิน จารีตดังกล่าวพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน แต่ชุมชนล้านนาบางแห่งก็ปรับปรุงระเบียบการใช้น้ำของชุมชนให้ทันสมัยยิ่งขึ้นแล้ว (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๓๘-๔๓)

๔. ความหลากหลายของวัฒนธรรมพื้นบ้าน
การประดิษฐ์ของใช้พื้นบ้านและงานศิลปหัตถกรรม เป็นภูมิปัญญาของชาวล้านนาในการแก้ปัญหาการดำรงชีวิตท่ามกลางระบบนิเวศที่ต้องพึ่งพากันระหว่างคนกับธรรมชาติ เมื่อสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปด้วย

ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง จำแนกภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวล้านนา ซึ่งถูกนำมาใช้ในการเกษตร การล่าสัตว์ การปรุงอาหาร การถนอมอาหาร การรักษาสุขภาพและอื่นๆ ดังนี้

๔.๑ ภูมิปัญญาจากพลังงานคน
เป็นภูมิปัญญาที่แสดงให้เห็นจากการประดิษฐ์เครื่องมือล่าสัตว์ เครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และ การเลียนเสียงธรรมชาติเพื่อการล่าสัตว์ ได้แก่ การน้าวธนู การขุดดิน การดำข้าว การฝึกหัดหรือบังคับให้สัตว์เดินไปตามทิศทางที่ต้องการ การเลียนเสียงสัตว์ป่าหรือเสียงเหยื่อเพื่อล่อให้สัตว์ติดกับดัก การบังคับให้เครื่องมือเกษตรกรรมเคลื่อนไหว เคลื่อนที่หรือหยุดการทำงาน เป็นต้น

๔.๒ ภูมิปัญญาจากพลังงานสัตว์
เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการฝึกสัตว์เลี้ยงผ่อนแรงในการทำเกษตรกรรม ได้แก่ แรงควายไถนา แรงควายฉุดระหัดวิดน้ำ การเคลื่อนไหวของสัตว์ไปสัมผัสกระเดื่องหรือกลไกดักสัตว์ การวางตาข่าย บ่วง แร้วหรือกับดัก เพื่อให้สัตว์เข้ามาชนหรือสัมผัส รวมถึงดักสัตว์อื่นๆ เช่น เบ็ด และต่วงเต้น (วางขวางทางน้ำเพื่อดักปลา) ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์ชนิดต่างๆเป็นอย่างดี

๔.๓ ภูมิปัญญาจากพลังงานธรรมชาติ
เป็นภูมิปัญญาที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจธรรมชาติและความสามารถในการดัดแปลงพลังงานจากธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่

- การอาศัยแรงดึงดูดของโลก เช่น การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง การชักน้ำเข้านาด้วยระบบชลประทานแบบเหมืองฝาย ฯลฯ
- การใช้พลังลม เช่น การไล่นกด้วยกะลก(เกราะ)ไล่นกหรือโหว้ไล่นก การใช้กาวีพัดฝุ่นผงออกจากข้าวเปลือก การใช้เครื่องสูบน้ำกังหันลม ฯลฯ
- การใช้พลังน้ำไหล พาปลาไปติดไซ ตับ ส้อน หรือใช้พลังน้ำฉุดระหัดวิดน้ำเข้านาและบังคับการทำงานของครกมอง ฯลฯ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับตากอาหาร เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้
- การใช้พลังไฟ เพื่อลนไม้ไผ่ให้อ่อนตัวแล้วดัดเป็นรูปต่างๆ การย่างหรือหุงต้มอาหาร การทำคบเพลิง การไล่สัตว์ การเผาอิฐ เผาถ่าน ฯลฯ
- การใช้พลังไอน้ำ ในการนึ่งข้าวเหนียว ผัก อาหารและอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
- การใช้พลังควันไฟ เพื่อไล่ก่อนเก็บน้ำผึ่งป่า หรือเพื่อปล่อยโคมไฟ อบเมล็ดพืช ฯลฯ
- การใช้พลังศักย์(พลังงานแฝง) จากวัตถุต่างๆ เช่น การนำไม้ไผ่หรือไม้เนื้อดีชนิดอื่นมาทำธนู หน้าไม้ หรือใช้แรงดีดของไม้ดึงบ่วงแร้ว ฯลฯ (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๐ : ๗๙-๘๐) สิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจในชีวิตประจำวันจากภูมิปัญญาของชาวล้านนามีดังนี้

· หลุกหรือระหัดวิดน้ำเข้านา อาศัยการทำงานของลูกล้อโครงไม้ขนาดใหญ่ มีภาชนะดักน้ำติดบนลูกล้อและรางน้ำ หลุกหมุนได้ด้วยแรงฉุดจากการไหลของกระแสน้ำ ส่วนประกอบของหลุก ๑. วงล้อหลุก ๒. ขาตั้งหลุก ๓. ก้านหรือชี่ ๔. ใบพัด ๕. กระบอกดักน้ำ ๖. รางน้ำ

หลุกแรงน้ำ

หลุกแรงควาย

· กะลกไล่นก ประกอบด้วยเกราะไม้ไผ่ทำปลายคล้ายคันธนู เชือกควั่นเป็นเกลียว เสียบด้วยไม้ไผ่ปลายทำเป็นแผง อาศัยแรงลมพัดให้ไม้ไผ่ตีเกราะไล่นกออกไปจากบริเวณติดตั้ง
· แอ่ว ภาชนะไม้ไผ่สานรมควันเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕๐ เมตร สูง ๑ เมตร ใช้นวดข้าวและบรรทุกข้าวไปเก็บในยุ้ง


· ถุข้าวหรือยุ้งข้าว ลักษณะเป็นเรือนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเสากว้างประมาณ ๓ เมตร ใต้ถุนสูงหลังคาทรงจั่ว มีพื้นที่เก็บข้าวภายใน ส่วนภายนอกมีพื้นที่เดินโดยรอบใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ไต้ถุนใช้เลี้ยงควายได้
· เสวียน เครื่องสานทรงกระบอกไม่มีก้น ขนาดเดียวกับแอ่ว ต้องใช้ผ้าปูรองก่อนเก็บข้าวเปลือก
· ครกมองเท้าเหยียบ / ครกมองพลังน้ำ ใช้ตำข้าวหรือสิ่งของต่างๆที่ไม่ทำให้ครกมองเสียหาย


ส่วนประกอบของครกมอง ๑. ครก ๒. สากมอง ๓. แม่มอง ๔. ไม้จิ้ม ๕. หัวมอง ๖. หางมอง ๗. เสามอง
๘. ราวมอง · โด้งหรือกระด้ง ภาชนะสานใช้ฝัดข้าว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐-๘๐ เซนติเมตร
· ขะโจ้หรือโชงโลง ลักษณะเป็นกระบอกไม้ไผ่ มีด้ามจับโยงเข้ากับไม้ไผ่สามเส้าใช้วิดน้ำเข้านา
· แร้ววัว เป็นไม้ไผ่โยงไว้กับเสาที่มีเบ้ารองรับ ปลายไม้มีเชือกล่ามสำหรับผูกวัวมิให้เชือกพันหลักไม้และช่วยให้วัวเดินออกไปเล็มหญ้าได้ไกลยิ่งขึ้น
· แร้วดักสัตว์เล็ก เช่น นก ไก่ ไก่ป่า กระต่าย ฯลฯ ประกอบด้วยบ่วงเชือกยาวประมาณ ๑ เมตร ปลายข้างหนึ่งผูกโยงกับกิ่งไม้ที่สามารถโน้มลงมาได้ อีกข้างหนึ่งใช้ก้อนหินขนาดพอเหมาะทับไว้ วางดักบริเวณที่สัตว์มักเดินผ่านเสมอ เมื่อสัตว์ผ่านเข้ามาในบ่วง จนก้อนหินที่ทับปลายเชือกหลุดออกมา กิ่งไม้จะตระหวัดบ่วงรัดคอสัตว์แล้วดึงลอยขึ้นไปด้วย ๔.๔ ภูมิปัญญาด้านการบำบัดรักษา
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีความหลากหลายทางพฤกษศาสตร์และชีวภาพ คุณสมบัติเช่นนี้ทำให้นักวิจัยทางเภสัชศาสตร์จากต่างประเทศ ชาวญี่ปุ่นและชาวออสเตรเลียและชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อย ฉวยโอกาสจดลิขสิทธิ์ผลงานและกอบโกยผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมยารักษาโรคจากงานวิจัยสมุนไพรที่มีพื้นฐานภูมิปัญญาไทย (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๔๘)

สภาวะคุกคามรอบด้านต่อภูมิปัญญาไทยดังข้างต้น ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการศึกษาและเข้าถึงคุณค่าของภูมิปัญญาไทยอย่างกว้างขวาง เพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ แพทย์แผนไทยแบบล้านนาหรือที่เรียกทั่วไปว่า หมอเมือง เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอีกแขนงหนึ่งที่กำลังได้รับการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่า

หมอเมืองเป็นบุคลากรหรือปัญญาชนท้องถิ่น ซึ่งคนนอกสังคมชนบทล้านนาไม่ค่อยรู้จัก คนเหล่านี้สั่งสมความรู้ทางปัญญาเกี่ยวกับการเข้าถึงกลไกและคุณค่าของพืชพรรณธัญญาหาร สัตว์ ตลอดจนแร่ธาตุจากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วถ่ายทอดขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บ การใช้ การจำแนกและการบำบัดรักษาโรคไว้ในตำราหมอเมืองหรือตำราแพทย์แผนโบราณล้านนามาเป็นเวลานาน

การถูกแทรกแซงจากวัฒนธรรมภายนอก เคยทำให้การสืบทอดการใช้สมุนไพรรักษาโรคของหมอเมืองมีอุปสรรค แต่เมื่อคุณค่าของหมอเมืองได้รับการพิสูจน์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างถ่องแท้แล้ว ภูมิปัญญาล้านนาด้านนี้ก็ถูกยอมรับด้วยดี กระบวนการของภูมิปัญญาล้านนาเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยสมุนไพร มีดังนี้

๔.๔.๑ การเก็บและการใช้สมุนไพรให้ได้คุณค่าสูงสุด
หมอเมืองล้านนายึดถือสืบต่อกันมาว่า การเก็บและการใช้สมุนไพรให้ได้คุณค่าสูงสุด ต้องเก็บสมุนไพรจากแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ หากเคลื่อนย้ายออกไปจากแหล่งกำเนิดจะทำให้สรรพคุณของตัวยาลดลง และต้องใช้สมุนไพรให้ครบ “พระเจ้า” ทั้งห้าองค์ คือ ใบ ราก ก้าน เปลือกและแก่น เพื่อให้ตัวยามีคุณค่าครบถ้วน
๔.๔.๒ การเก็บสมุนไพร
ช่วงเวลาในการเก็บพืชสมุนไพรคือ เก็บตามฤดูกาลที่สมุนไพรแต่ละชนิดเจริญเติบโต และต้องเก็บตามเวลาชั่วยามที่เหมาะสมแบบไทย ( ๑ ชั่วยามมี ๓ ชั่วโมง ) ซึ่งระบบนิเวศของพืชทำงานสมบูรณ์เต็มที่ เช่น ฤดูร้อนต้องเก็บส่วนรากและแก่นของสมุนไพร ฤดูฝนเก็บส่วนใบ ดอก และผล ฤดูหนาวเก็บส่วนเปลือก ลำต้น กระพี้และเนื้อไม้ การเก็บพืชสมุนไพรให้ได้ผลด้านสรรพคุณยาเต็มที่ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในกระบวนการทางธรรมชาติของการสังเคราะห์แสง การปรุงอาหารและการเก็บสะสมสารอาหารไปยังส่วนต่างๆของพืช บางครั้งการเก็บพืชสมุนไพรยังอิงกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น การเกิดจันทรุปราคา เป็นต้น

หลักการเก็บพืชสมุนไพรตามภูมิปัญญาพื้นบ้านมีดังนี้
-เวลา ๖ โมงเช้าถึง ๙ โมงเช้า เก็บส่วนใบ ดอกและผล
-๙ โมงเช้าถึงเที่ยง เก็บส่วนกิ่งและก้าน
-เวลาเที่ยงถึงบ่าย ๓ โมง เก็บส่วนต้น เปลือกและแก่น
-บ่าย ๓ โมงถึง ๖ โมงเย็น เก็บส่วนราก
-เวลา ๖ โมงเย็นถึง ๓ ทุ่ม เก็บส่วนราก
-๓ ทุ่มถึง ๖ ทุ่ม เก็บส่วนต้น เปลือกและแก่น
-เวลา ๖ ทุ่มถึงตี ๓ เก็บส่วนกิ่งและก้าน
-ตี ๓ ถึง ๖ โมงเช้า เก็บส่วนใบดอกและผล
(เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๔๙-๕๐)


๔.๔.๓ สรรพคุณทางยาและคุณสมบัติทางเภสัชศาสตร์
พืชสมุนไพรแม้มีหลากหลายแต่ภาพรวมแล้วประกอบด้วยรสชาติและคุณสมบัติทางตัวยาดังนี้

รสเปรี้ยว กัดเสมหะ
รสหวาน ให้พลังงาน
รสเค็ม แก้อาการทางผิวหนัง
รสขม แก้อาการทางโลหิต โรคดี
รสเผ็ดร้อน แก้โรคลม บำรุงธาตุ
รสมัน แก้โรคเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ
เบื่อเมา แก้พิษเสมหะ พิษโลหิต
รสฝาด ใช้ทางสมานแผล
รสหอมเย็น บำรุงหัวใจ
รสผสม ใช้ในกรณีที่ต้องการให้เกิดสรรพคุณรวมกัน

๔.๔.๔ คุณสมบัติเฉพาะของสมุนไพรแต่ละชนิด

สมุนไพรที่ให้สารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย
ธาตุเหล็ก มีในดอกและใบขี้เหล็ก มะเขือพวง ตำลึง รำข้าว งา ฯลฯ
แคลเซียม มีในผักกระถิน ใบยอ มะเขือพวง ถั่ว งา น้ำตาลทรายแดง ฯลฯ
ฟอสฟอรัส มีในรำข้าว ข้าวโพด งาดำ ถั่วต่างๆ มะเขือพวง ผลไม้ต่างๆ
วิตามินซี มีในมะขามป้อม มะขามเทศ มะยม มะนาว ส้ม ผักสีเขียว ฯลฯ

สมุนไพรบำรุงเส้นผม
มะกรูด มีสรรพคุณ ขจัดรังแค ชันตุ สังคัง ทำให้ผมนิ่ม ดกดำเป็นมัน ไม่แตกปลาย
ว่านหางจระเข้ บำรุงรากผมให้สมบูรณ์ ช่วยให้ผมนิ่ม ดกดำ
ส้มป่อย ช่วยให้เส้นผมดกดำเป็นเงางาม

พืชสมุนไพรแก้พิษ
ฝิ่นต้น (มะละกอฝรั่ง ละหุ่งแดง) ใช้ใบต้มกินแก้บิด แก้ท้องร่วง
พญาไร้ใบ (เอื้องเถา) ใช้ยางกัดฝี กัดหนอง
หญ้าหนวดแมว ต้มกินขับปัสสาวะ ละลายนิ่ว
ผักฮ้วนหมู (ต้นซุงสุนัขบ้า) ลำต้นใช้แก้โรคตา แก้หวัด แก้พิษงูกัด ใบแก้แผลถูกน้ำร้อนลวก แก้บวม แก้ฝี รากทำให้อาเจียนและขับกระทุ้งพิษ

๔.๔.๕ การบำบัดรักษาโรค
ตามธรรมเนียมของล้านนา การรักษาโรคด้วยสมุนไพร ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการแพทย์พื้นบ้านเชิงพิธีกรรม เพราะเป็นการบำบัดรักษาควบคู่กัน ระหว่างกายกับใจ ซึ่งการแพทย์แผนไทยทุกภาคก็ปฏิบัติแบบเดียวกัน การสวดคาถา ประพรมน้ำมนต์ ปัดรังควานและการเรียกขวัญระหว่างบำบัดรักษา ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดกำลังใจสู้กับความเจ็บป่วย ซึ่งแต่เดิมการรักษาด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่ไม่เห็นความสำคัญ (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๔ ข : ๕๐-๔๒)

๔.๔.๖ หมอเมือง : ตำนานหมอพื้นบ้านล้านนา
หมอเมืองเป็นตำแหน่งทางสังคมของบุคคลผู้มีความรู้ในการสร้างสรรค์ ปัดเป่าเยียวยาและรักษาปัญหาโรคภัยไข้เจ็บทุกข์ร้อนต่างๆของชุมชนด้วยพืชสมุนไพรหรือวิธีการอื่นๆ หมอเมืองจึงมิได้เป็นเพียงตำแหน่งทางวิชาชีพ และมิใช่พ่อค้าขายยาหรือคนขายสมุนไพร แต่หมอเมืองและตำราหมอเมืองเปรียบเสมือนองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีการสืบทอดมาหลายชั่วอายุ (สัมภาษณ์นายทอง สุขรัตน์ ประธานอำนวยการเครือข่ายหมอเมือง จ.เชียงใหม่, อ้างจาก อธิชัย ต้นกันยา, ๒๕๔๕ : ๒๓)

(๑) บทบาทของหมอเมือง
บทบาทและวิถีการรักษาของหมอเมืองปัจจุบันถูกจำกัดจากกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบ
โรคศิลป์ของรัฐบาล ทำให้หมอเมืองไม่สามารถให้การรักษาเยียวยาแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่า ผู้ที่จะประกอบอาชีพเป็นแพทย์แผนโบราณ ต้องสอบผ่านวิชาเวชกรรมแผนโบราณของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน ๕ เล่ม แต่ปัญหาที่หมอเมืองล้านนาประสบคือ ตำราเวชกรรมแผนโบราณเป็นภูมิปัญญาภาคกลางมิใช่ภูมิปัญญาล้านนา ดังนั้นหากหมอเมืองต้องการจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์ ก็จำเป็นต้องละทิ้งแนวทางการรักษาโรคตามแบบอย่างภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา ซึ่งวิธีการดังกล่าวมิใช่รากเหง้าของภูมิปัญญาล้านนา ด้วยเหตุนี้หมอเมืองล้านนาส่วนหนึ่ง จึงต้องทำหน้าที่แบบหลบๆซ่อนๆในเขตหมู่บ้านหรือตำบล

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแพทย์จากโรงพยาบาลหลายแห่งในภาคเหนือ อาทิ แพทย์ที่โรงพยาบาลพญาเม็งราย เริ่มเปิดกว้างยอมรับวิธีการบำบัดรักษาโรคของหมอเมืองเข้ามาผสมผสาน เนื่องจากการขาดแคลนแพทย์แผนปัจจุบันในกรณีที่คนไข้กระดูกหัก โดยแพทย์ที่โรงพยาบาลได้วินิจฉัยอาการบาดเจ็บเบื้องต้นด้วยวิธีการถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซเรย์เพื่อวิเคราะห์ตำแหน่งหักของกระดูก จากนั้นก็เริ่มต้นรักษาด้วยการเข้าเฝือกที่โรงพยาบาล ก่อนจะอนุญาตให้คนไข้ไปรับการรักษาต่อด้วยวิธีการนวดน้ำมันมนต์กับหมอเมือง เป็นต้น การที่หมอเมืองให้ความร่วมมือด้วยดี มีสาเหตุมาจากการได้รับการยอมรับนับถือจากแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเท่าเทียมกัน และสิ่งสำคัญก็คือการเข้าใจสภาวะภายในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งต้องการการเยียวยาเช่นเดียวกับสภาวะทางใจ (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๔๐ : ๑๒๙-๑๓๐)

(๒) สถานการณ์ปัจจุบันของหมอเมือง
ในช่วงสิบปีเศษที่ผ่านมา เมื่อการรักษาโรคด้วยการแพทย์สมัยใหม่เป็นโอกาสของคนมีฐานะ
และยาแผนปัจจุบันก็มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของการขาดดุลการค้าแล้ว ยังทำให้คนไทยจำนวนมากเสียโอกาสในการได้รับการรักษาพยาบาลด้วย รัฐบาลจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของการรักษาโรคด้วยวิธีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ การรักษาโรคด้วยสมุนไพรและภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในสังคมไทย

ในภาคเหนือก็เช่นกัน ผู้นำชุมชนล้านนาได้ก่อตั้งเครือข่ายหมอเมืองขึ้น เพื่อเรียกร้องสิทธิในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้ภาคเหนือ ๑๗ จังหวัดมีเครือข่ายหมอเมืองทั้งสิ้น ๓๗ กลุ่มกระจายทุกอำเภอ สมาชิกในเครือข่ายมีมากกว่า ๗๐๐ คน ประสานงานกันอย่างจริงจังและสิ่งที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของเครือข่ายหมอเมืองคือ มีการจัดประชุมสัญจรทุก ๔ เดือน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการยกระดับหมอเมือง และเพื่อพัฒนาให้กลุ่มหมอเมืองเป็นศูนย์การศึกษาและสืบทอดภูมิปัญญาหมอเมืองในเขตล้านนา (อธิชัย ต้นกันยา, ๒๕๔๕ : ๒๓)

(๓) เครือข่ายหมอเมืองล้านนา : แบบอย่างของการจัดการด้านสวัสดิการและธุรกิจชุมชน
เครือข่ายหมอเมืองล้านนาแยกการทำงานออกเป็น ๕ กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มหมอเมือง ประกอบด้วย หมอดู หมอสะเดาะเคราะห์ หมอเทียน หมอเป่า หมอตอกเส้นและหมอแหกพิษ
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มหมอนวด ประกอบด้วย หมอนวดเท้า หมอเหยียบขา หมอประคบสมุนไพรและหมอคลายเส้น
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มหมอยา ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาตัวยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กลุ่มที่สี่ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรในนามกลุ่มหมอเมืองขายแก่สมาชิกที่ต้องการสร้างรายได้ในชุมชน หรือ ปลูกเพื่อใช้เองในครอบครัว
กลุ่มที่ห้า เป็นกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำหน้าที่รับซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มผู้ปลูกมาแปรรูป โดยเริ่มจากการสร้าง หั่นฝอยผึ่งแดด อบแห้งและบรรจุพลาสติก เมื่อจะใช้ก็นำมาบดและปรุงที่สำนักงานเครือข่ายหมอเมือง เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานใกล้เคียงกัน

จากเนื้อหาข้างต้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า ในอดีตก่อนที่จะมีการกำหนดแผนที่และปักปันเขตแดนกันตามความหมายของรัฐประชาชาติในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น การที่ดินแดนล้านนามีพื้นที่ติดต่อกับดินแดนบางส่วนของประเทศพม่า ลาว และจีน ทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทยอง พม่า จีน มอญ ลาว ยาง ลัวะ ข่า และขะมุ สามารถเดินทางค้าขายและไปมาหาสู้กันอย่างอิสระ โดยใช้เส้นทางบกผ่านเทือกเขาและทางเดินเรือในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ทำให้ภูมิปัญญาด้านต่างๆของชาวล้านนา อาทิ ศาสนา ความเชื่อดั้งเดิม การนับถือผี พิธีกรรม การฮ้องขวัญเชิญขวัญ เทคโนโลยีพื้นบ้าน แบบแผนของการอยู่ร่วมกันในชุมชน การรักษาโรคภัยไข้เจ็บและการขจัดปัดเป่าทุกข์โศก มีลักษณะคล้ายคลึงกับชนชาติที่อาศัยในภูมิภาคเดียวกันและนับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย สถานการณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิปัญญาล้านนา นับวันจะล่อแหลมต่อการสูญหายไปจากวิถีชุมชนจากการคุกคามทางวัฒนธรรมภายนอก รวมถึงผลจากการศึกษาแผนใหม่ซึ่งถูกกำหนดมาจากส่วนกลางในรอบ ๔๐ ปี นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙) รวมถึงผลกระทบจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวอันเปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งสร้างรายได้แต่ทำลายรากเหง้าดั้งเดิมของวัฒนธรรมและการแทรกซึมในรูปแบบของความทันสมัย (Modernization) ที่ผ่านมากับสื่อต่างๆ โดยมิได้มีการกลั่นกรอง สิ่งเหล่านี้จึงล้วนแต่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวล้านนาเมินเฉยต่อการอนุรักษ์ สืบสานและพัฒนามรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าของตน

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่วิกฤตพลิกผันรุนแรงในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นที่มาของการปรับตัวของสังคมไทย ตลอดจนแนวโน้มของการปฏิรูปทางการศึกษา บ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีต่อการรักษาเอกลักษณ์ ความมั่นคงและยั่งยืนของสถาบันครอบครัวและชุมชน ปัญญาชนไทยจึงผลักดันให้เกิดกระแสการหวนกลับมาเรียนรู้แก่นแท้ของภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างกว้างขวางและจริงจังทั้งภาครัฐและเอกชน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่บ่งชี้ถึงความไพศาลแห่งคุณประโยชน์ของมรดกภูมิปัญญาไทยที่คนรุ่นใหม่จะได้รับสืบทอดต่อไป

บรรณานุกรม

สำนักนายกรัฐมนตรี. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณคดี.(๒๕๑๔). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (๒๕๓๗). ผ้าไทย. กรุงเทพมหานคร : คุรุสภาลาดพร้าว
วรรณา วุฒฑะกุล และ ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา. (๒๕๓๗). ผ้าทอกับวิถีชีวิตชาวไทย ใน ผ้าไทย. กรุงเทพมหานคร : คุรุสภาลาดพร้าว.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (๒๕๔๕). ศิลปะล้านนา. จัดพิมพ์เนื่องในการอบรมประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำหรับบุคคลทั่วไป ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕-๒๘ มีนาคม ๒๕๔๕.
สันติ เล็กสุขุม. (๒๕๔๔). ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (ฉบับย่อ). กรุงเทพมหานคร : ด่านสุทธาการพิมพ์.
สุมาลย์ โทมัส. (๒๕๓๗). ผ้านุ่ง : ข้อสังเกตเกี่ยวกับผ้าทอมือในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในผ้าไทย. กรุงเทพมหานคร : คุรุสภาลาดพร้าว
สุรพล ดำริห์กุล. (๒๕๓๙). แผ่นดินล้านนา. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ
อธิชัย ต้นกันยา. (๒๑ มีนาคม ๒๕๔๕). หมอเมือง : ภูมิปัญญาพื้นบ้านถูกบีบ. มติชน.
เอกวิทย์ ณ ถลาง. (๒๕๔๔ ก). ภาพรวมภูมิปัญญาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์.
เอกวิทย์ ณ ถลาง, (๒๕๔๔ ข). ภูมิปัญญาล้านนา. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์.
เอกวิทย์ ณ ถลาง. (๒๕๕๐). ภูมิปัญญาชาวบ้านสี่ภูมิภาค : วิถีชีวิตและกระบวนการเรียนรู้ของ
ชาวบ้านไทย. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น