จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิธีการสอนนักศึกษาจีน

โครงการเสวนา KM ครั้งที่1/ 2553
รายงานโดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร


เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้จัดเสวนาการจัดการความรู้เรื่อง วิธีการสอนนักศึกษาจีนขึ้น ณ ห้องประชุม6-1 (ทวี บัณยเกตุ) อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 6 เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพแก่นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวจีนตลอดจนสร้างชุมชนนักปฏิบัติ .ผู้สอนนักศึกษาชาวจีน” ของคณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ปัญหาและอุปสรรค
นักศึกษาจีนส่วนใหญ่เรียนไม่ทันเพื่อน ระดับการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาไทยแม้จะเคยเรียนภาษาไทยามาแล้ว 1-2 ปีที่ประเทศจีน ปัญหา คือ อาจารย์พูดเร็ว ไม่รู้ปัญหาการฟังของนักศึกษา เมื่อฟังไม่เข้าใจก็ไม่อยากเข้าเรียนและอาจารย์บางคนสอนไม่เก่ง ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนถอนรายวิชาออกไป นอกจากนี้ระบบ wireless internet ที่มหาวิทยาลัยยังช้ามากด้วย

นักศึกษาบางคนบอกว่า จำคำศัพท์ในภาษาไทยไม่ได้ เขียนภาษาไทยก้ไม่ค่อยได้ แต่อย่างอื่นโอ.เค. นักศึกษาบางคนบอกว่าออกเสียงคำศัพท์ในภาษาไทยไม่ได้ อาจารย์พูดเร็วไป อาจารย์บางคนพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษแทนภาษาไทย ทำให้งง ขอให้อาจารย์พูดช้าๆและอธิบายช้าๆ หน่อย วิชาการจัดการทางการตลาดใช้คำยากมาก วิชาอื่นๆก็มีประโยชน์ทำให้สามารถเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้มาก

วิธีการสอนของอาจารย์
ผศ.ปิยวรรณ แสงสว่าง เด็กเก่งต้องรอคนอ่อน เบื่อ ชั่วโมงแรกใช้แบบสอบถามเพื่อสำรวจพื้นฐานความเข้าใจทางภาษาว่ามีมากน้อยเพียงใด แบบสอบถามประกอบด้วย การทดสอบความสามารถด้านการเขียน การอ่าน ประสบการณ์เคยเที่ยวที่ไหนบ้าง ชอบอะไร ชอบที่ไหน เล่าเรื่องเมืองจีน ชั่วโมงต่อๆมาปรับเนื้อหา ใช้ power points แจกก่อนสอน 1 สัปดาห์ ใช้ภาษาง่ายๆ ไม่ควรพูดภาษาอังกฤษ นักศึกษาจะไม่เข้าใจ เวลาสอนให้ช่วยกันเรียน คนเก่งช่วยคนอ่อน หรืออธิบายให้เพื่อนฟัง

การใช้ภาพมากๆ หรือ เปิดพจนานุกรมไทย-จีนกลางใน google ท้ายชั่วโมงมีแบบฝึกหัดทุกครั้งและการซักถาม ควรแทรกวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยมากๆ หน่อย ให้น.ศ.เขียนบันทึกประจำวันทุกวัน ในประเทศจีน 1 คาบเรียนมี 40 นาที ของไทยมี 90 นาที การฝากให้นักศึกษาไทยช่วยเป็นพี่เลี้ยงอาจมีปัญหาเพราะนักศึกษาไทยจะสอนแบบผิดๆ

นักศึกษาจีนบางคนพยักหน้าเข้าใจแต่คนอื่นๆ ไม่เข้าใจ เขียนคำศัพท์ใหม่ๆ บนกระดาน แม้แต่ชื่ออาจารย์

เด็กจีนกับเด็กไทยออกเสียงไม่เหมือนกัน ควรเขียนบนกระดานแล้วให้ออกเสียงพร้อมกัน อาจตั้งกฎห้ามพูดภาษาจีนในห้องและตั้งระเบียบปรับเงินครั้งละ 5 บาท

นักศึกษาจีนชอบอะไร
นักศึกษาจีนชอบให้พูดช้าๆ ชอบอาจารย์ใจดี ชอบเรียนรู้จากประสบการณ์ของอาจารย์ ชอบทำกิจกรรมกับนักศึกษาไทย และตามปกติแล้วนักศึกษาจีนมักจะนอนตอนบ่ายโมงเสมอ
นักศึกษาจีนไม่ชอบอะไร
ไม่ชอบการสอนที่ไม่ครอบคลุมเนื้อหาและไม่มีเอกสารแจก ไม่ชอบเรียนกับผู้สอนเรื่อยๆ เนือยๆ ไม่ถามว่านักศึกษาเข้าใจหรือไม่ ไม่ชอบอาจารย์ที่เข้าสอนสาย เนื่องจากอาจารย์จีนจะตรงต่อเวลามาก นักศึกษาจีนบางคนวิจารณ์ว่า อาจารย์ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ในการจัดงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ อาจารย์หาสถานที่จัดงานไม่ทัน ทางออกคือควรพูดจาตกลงกับฝ่ายอาคารสถานที่ให้เรียนร้อย นักศึกษาบางคนหลับในห้องก็ไม่ว่ากล่าวตักเตือน ไม่ชอบเรียนช่วงเช้ามากๆ นักศึกษาจีนบางคนบอกว่าอยากเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจไทยมากๆ และอยากเรียนเรื่องยากๆ ไม่ชอบจด ชอบเรียนรู้วิธีการใช้ภาษาไทย ชอบวิชาภาษาไทยเพื่อการท่องเที่ยว นักศึกษาจีนบางคนบอกว่าอยู่เมืองจีนคิดว่าเป็นภาษาจีน เพราะทำให้ไม่ได้ไปค้นคว้าต่อในพจนานุกรม บางคนชอบความตรงต่อเวลาของอาจารย์ อยากเรียนรู้เรื่องมารยาทไทย และชอบอาจารย์ที่สอนไปยิ้มไป

อาจารย์ภาษาอังกฤษบางคนใช้วิธีการสอนแบบRole Play โดยให้เด็กอ่อนจับคู่กับเด็กเก่ง ผุ้สอนควรเน้นการให้กำลังใจเด็กจีน ทุกครั้งที่เริ่มเนื้อหา ควรเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อน เช่น เทียบรูปวัดไทยกับวัดจีน

การทัศนศึกษา
นักศึกษาจีนมีความอดทนและกระตือรือร้นในเรื่องการทัศนศึกษามาก ขณะที่นักศึกษาไทยทำท่าทางเบื่อหน่าย นักศึกษาจีนจะสนใจแหล่งท่องเที่ยวต่างไปจากนักศึกษาไทย เช่นการไปเที่ยวน้ำตก พวกเขาสนใจเดินเล่นและถ่ายรูป เด็กไทยเล่นน้ำ กินส้มตำ ไปเที่ยวน้ำพุร้อนเด็กจีนถ่ายรูป เด็กไทยต้มไข่ บางรายวิชาที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณสำหรับพานักศึกษาจีนไปเที่ยวก็สามารถจัดเที่ยวกันเองก็ได้

สรุป
ระบบการจัดห้องเรียนของนักศึกษาจีนเป็นการเรียนแบบห้องเดียว ดังนั้น ผู้สอนจึงควรมีคุณสมบัติสำคัญ คือ ตรงต่อเวลา สอนให้สามารถนำไปใช้ได้เป็นมิตรและให้กำลังใจ เรื่องการฝึกงานนั้นนักศึกษาจีนอยากให้อาจารย์หาสถานที่ฝึกงานให้และอยากมีกิจกรรมทำร่วมกับนักศึกษาไทย นักศึกษาจีนชอบดูหนัง ชอบเที่ยว เพื่อจะได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมไทยให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ไม่อยากนั่งเรียนอยู่แต่ในห้องอย่างเดียว อาจารย์ควรสอนเพลงไทย และตั้งงบประมาณล่วงหน้าในการพาไปทัศนศึกษา ในกรณีของวิชาภาษาไทยเพื่อการท่องเที่ยว มีการจัดกิจกรรมให้นักศึกษาจีน ชื่อ “Learning by Doing” คือ กิจกรรมแรก คือ นั่งรถไปจากบางซื่อไปสวนสน กิจกรรมที่สอง คือ ไปเที่ยวเมืองโบราณ เพื่อนักศึกษานำข้อมูลมาใช้ในการเขียนBrochure นำเที่ยว หรืออาจเชิญวิทยากรจากภายนอกมาพูดให้นักศึกษาฟังนอกเหนือจากการเรียนในclass

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น