จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ความประทับใจ: อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือร่วมลงขันสร้างถังน้ำดื่มให้นักเรียนบ้านคูบัวเมื่อพ.ศ.2525

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เมื่อกลางภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา2525 ขณะที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่2 ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กิจกรรมถนัดที่ผู้เขียนเข้าร่วม คือ การเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของคณะและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้พี่อึ่ง รุ่นพี่รุ่นพี่ซึ่งเป็นประธานนักศึกษายังได้ทาบทามไปทำหน้าที่เป็นประธานกีฬาคณะอีกด้วย จึงต้องทำงานออกหน้าออกตาให้เห็นกันบ่อยๆ แถวๆ คณะ

วันหนึ่งมีเพื่อนมาสะกิดให้ผู้เขียนไปพบรองศาสตราจารย์ ปรีชา กาญจนาคม(ศาสตราจารย์ปรีชา กาญจนาคม) อาจารย์ที่ปรึกษา จึงรู้สึกใจเต้นไม่เป็นส่ำ เพราะร้อยวันพันปีไม่เคยเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาเลย ยกเว้นตอนลงทะเบียนเรียน นอกจากนี้ยังติดนิสัยพอเหลือบเห็นอาจารย์ท่านใดเดินผ่านมาก็มักจะหลบหายหน้าไปก่อนที่จะเดินสวนกับท่านเหล่านนั้นเสมอ

เมื่อพิจารณาดูแล้วตนเองไม่น่าจะทำอะไรผิดเอาไว้จึงคลายใจ เพราะอาจารย์ดุมากในชั้นเรียนขณะสอนวิชาโบราณคดีเบื้องต้น มาดของอาจารย์ที่เจนตาอยู่จนถึงทุกวันนี้ คือ ความเคร่งขรึมและท่านจะพูดเสียงต่ำๆขณะสอนว่า
“ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม คุณต้องพยายามฝึกฝนตนเอง พัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการใช้ชีวิตให้ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ” ประมาณนี้ โดยอาจารย์ปรีชามักจะใช้นิ้วชี้ข้างใดข้างหนึ่งขยับกรอบแว่นให้เข้าที่เหนือดั้งจมูกเสมอ

สิ่งที่นักศึกษาชั้นปีที่1 ต้องได้รับบทเรียนกันเกือบทุกคน คือ เรื่องการถูกหักคะแนนเมื่อสะกดคำว่า “ขวานหินกะเทาะ”ผิดในการทำข้อสอบอัตนัย แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ด้วยคำสอนที่จริงจังอย่างนี้ทำให้ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ติดนิสัยการเขียนหนังสือด้วยความระมัดระวังทุกเสมอ

เมื่อผู้เขียนเดินขึ้นไปพบอาจารย์ปรีชา ท่านยิ้มให้อย่างมีเมตตาและแจ้งให้ทราบว่า จะขอแรงให้ช่วยบอกบุญแก่นักศึกษาคณะโบราณคดีทุกชั้นปี ให้ช่วยกันบริจาคเงินสร้างถังเก็บน้ำดื่มแก่นักเรียนที่บ้านคูบัว ตำบลคูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเราได้อาศัยพักพิงคุ้มกะลาหัวกันในช่วงฝึกภาคสนามการขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงปิดภาคเรียนมาระยะหนึ่งแล้ว

ผู้เขียนรับปากอาจารย์ปรีชาและกลับลงมาด้วยความภาคภูมิใจที่อาจารย์มอบหมายหน้าที่สำคัญดังกล่าวให้ แต่ก็รู้สึกหนักใจเพราะตระหนักดีว่า ศักยภาพของตนเองอาจจะไม่เพียงพอ จากนั้นก็กลับไปนั่งไตร่ตรองอยู่พักหนึ่ง ในห้องพักนักศึกษา ซึ่งเราเรียกกันว่าห้องCommon room

ในที่สุดก็เหลือบเห็นถังน้ำพลาสติกสีเหลืองที่เคยใช้ตักน้ำระหว่างออกฝึกขุดค้นในช่วงปิดภาคฤดูร้อนของปีที่แล้วได้ จึงเอากระดาษมาปิดที่ด้านข้างถังแล้วเขียนด้วย Marking Pen สีน้ำเงินว่า “จุลศักราช 1342 (พ.ศ.2525) ขอเชิญพวกพ้องน้องพี่ชาวคณะโบราณคดีมาช่วยกันลงถัง(ลงขัน) เพื่อสร้างถังเก็บน้ำดื่มให้นักเรียนโรงเรียนบ้านคูบัว จ.ราชบุรี” จากนั้นผู้เขียนก็นำถังดังกล่าวไปวางไว้ข้างประตูทางเข้าของตึกคณะโบราณคดี แล้วคอยนั่งเฝ้า ปากก็บอกบุญให้ร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ซึ่งมักจะผลัดกันนั่งประจำกันที่โต๊ะหน้าคณะไม่เคยว่างเว้น เมื่อถึงเวลาเรียนก็ฝากบอกให้คนอื่นช่วยดูให้ ปรากฏว่าธารน้ำใจจากคณาจารย์ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลั่งไหลมาเป็นระยะๆ คนละเล็กคนละน้อย ทำให้ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก็ได้เงินบริจาคมาประมาณ 3,000 บาทเศษ จากนั้นจึงนำไปมอบให้อาจารย์ปรีชาเพื่อดำเนินการต่อไป

ผู้บริจาคคนหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ไม่รู้ลืม คือ ชายหนุ่มวัยประมาณ 25-26 ปี ผิวพรรณดี ใบหน้าหล่อเหลา รูปร่างสูงโปร่งและสง่างาม แต่งตัวสุดเนี๊ยบ ผู้กำลังจะเดินผ่านไป ทั้งๆที่ตนเองก็ไม่เคยสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อน เพียงแต่เห็นไม่กี่ครั้งในช่วงรับน้อง และผู้เขียนไม่ใช่วัยรุ่นประเภทคลั่งดารา หรือ คลั่งคนดัง แต่ทุกครั้งก็ได้พบหน้าบุคคลท่านนั้น ก็มักจะแอบอธิษฐานอยู่ในใจว่า “เจ้าประคุ๊ณขอให้ลูกช้างหล่อได้เหมือนพี่คนนี้สักครึ่งหนึ่งเถิ๊ด” แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เคยสมใจนึกเลยแม้แต่น้อย

เหตุที่ผู้เขียนทราบมาคร่าวๆจากเพื่อนๆแบบปากต่อปากว่า พี่แพนเป็นนายแบบ จบปริญญาตรีรุ่นเดียวกับพี่ตา(สาวิตรี พิสนุพงศ์-พี่วอ(วรชัย วิริยารมย์) และกำลังเรียนปริญญาโทสาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ จึงไม่รอช้าร้องออกไปว่า “พี่แพนช่วยบริจาคสร้างถังน้ำให้เด็กนักเรียนบ้านคูบัวด้วยครับ”

พี่แพนเดินกลับมายิ้มพรายปรากฏอยู่บนริมฝีปากคมกริบรูปกระจับงดงามเกินชาย(ใด) พร้อมกับกรีดธนบัตรใบละยี่สิบออกมา 1 ใบ หย่อนลงถัง จากนั้นพี่แพนก็พูดคุยด้วยอย่างไม่ถือตัวเล็กน้อย ก่อนจะยื่นนามบัตรร้านแพรวสุวรรณให้แล้วเดินขึ้นตึกไป

นี่คือส่วนหนึ่งในน้ำใจอันงดงามของเผ่าทอง ทองเจือ ที่สร้างสมมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น